วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อเข่าล็อก Upward Fixation of the Patella (UFP), Stifle Lock


อาการข้อเข่าล็อก หรือ Upward Fixation of the Patella หรือ Stifle Lock จะเกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นที่ชื่อว่า Medial Patella Ligament (MPL) ขึ้นไปติดอยู่บนหัวกระดูกที่เรียกว่า Medial Trochlear ridge ของกระดูก Femur ซึ่งส่งผลให้ข้อเข่าไม่สามารถงอได้ บางตัวติดแป๊บๆ แล้วหลุดเอง บางตัวติดนาน บางตัวติดจนเกิดอาการบาดเจ็บอื่นๆ ตามมา จากสถิติพบว่า ม้าแคระ ม้าโพนี่ มีโอกาสเกิดได้มากกว่าม้าใหญ่ แต่จริงๆ ก็เกิดได้ถ้าม้าตัวนั้นมีความเสี่ยงตามปัจจัยด้านล่างนี้

ดูวีดีโอได้ที่นี่ครับ >> http://www.youtube.com/watch?v=pyL2JyxfSC4



ความเป็นไปได้ของการเกิดอาการนี้ได้แก่

  1. ม้าที่ลักษณะโครงสร้างชองขาหลังตรงเกินไป (Post-leg conformation, Straight-hind limb) หรืออาจเกิดจากการตัดแต่งกีบที่ส้นเตี้ยเกินไปจะทำให้ม้ายืนสอดขาเข้าไปด้านหน้ามากกว่าปกติ เกิดการยืนคล้าย Post-leg conformation ซึ่งผลของทั้งสองอย่างคือมุมของข้อเข่าจะมากกว่าปกติ มุมของข้อเข่าขณะที่ม้ายืนจะเปลี่ยนจาก 135 องศา ไปเป็น 140 องศาหรือมากกว่า ซื่งหากมุมของข้อเข่าขยับไปมากกว่า 145 ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการนี้ได้ง่ายขึ้น
  2. การเอาม้ามาใช้งานเร็วเกินไป หรือใช้งานม้าน้อยเกินไป ขาดการออกกำลัง ขังคอกมากไป เหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อม้าส่วนที่เชื่อมกับเอ็นเส้นที่ว่าอ่อนกำลัง ส่วนในม้าเด็กถ้าเอามาใช้งานเร็วไป ก็ลักษณะเดียวกัน คอกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอที่จะสามารถพยุงเส้นเอ็นไว้ได้ โอกาสที่ข้อเข่าจะยืดมากกว่าปกติก็มีมากทั้งคู่ พอยืดมากขึ้นก็เข้าลักษณะเดิมกับข้อ 1 คือมีโอกาสขึ้นไปติดได้มากขึ้น
  3. ขาดแร่ธาตุตั้งแต่เด็กๆ ทำให้โครงสร้างของร่างกายไม่แข็งแรง ยกตัวอย่างเช่น ขาด Copper ซึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Collagen fiber ที่พบในทุกแทบเนื้อเยื่อของระบบโครงสร้าง การขาดก็จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เส้นเอ็นไม่แข็งแรง โครงสร้างร่างกายผิดปกติไป
  4. อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ม้ามีการยืดขาหลังมากกว่าปกติก็ได้


ซึ่งทั้ง 4 อันหลักๆ นี้ อาจเกิดอันใดอันหนึ่ง หรือทั้ง 4 แบบเลยก็ได้

การแก้ไข หรือรักษาขึ้นกับความรุนแรง
  1. ตัดแต่งกีบได้มุมตามธรรมชาติ (ขาหลัง 50-55 องศา) การทำส้นให้ด้านในสั้นกว่าด้านนอกเล็กน้อยน่าจะช่วยได้ ในกรณีนี้ เพราะทำให้เกิดแรงตึงกับเส้นเอ็นเจ้าปัญหานี้มากขึ้น โอกาสที่จะไปติดก็อาจจะน้อยลงได้
  2. ออกกำลังกายม้าสม่ำเสมอ ด้วยการตีวงทรอท ควรสอนให้ม้ามีการสอดขาหลังด้วย เพราะหากม้าวิ่งแบบไม่สอดขาหลัง ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อบางส่วนไม่ได้ใช้งาน ก็ฝ่อลีบไป บางส่วนใช้งานมากกว่าปกติก็เกร็งและตึง ส่วนตารางการออกกำลังไม่ยากครับ แต่ต้องตรวจก่อนเพื่อให้รู้ว่าเป็นมากน้อยเพียงใด
  3. ให้อาหารเสริมต่างๆ จำพวกแร่ธาตุ รวมถึงตัวที่บำรุงกล้ามเนื้อ (ช่วยเสริมเรื่องการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ)
  4. ผ่าตัด มี 2 แบบ แยกเส้นเอ็น กับตัดเส้นเอ็น ขึ้นกับความรุนแรง
หากมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างเหมาะสม ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงนัก สามารถหายได้ครับ แต่ถ้าหากช่วยเรื่องการออกกำลังกาย การแต่งกีบ และให้อาหารเสริม แล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรพิจารณาเรื่องการผ่าตัด โดยการผ่าตัดแก้ไขอาการนี้ ให้ผลการผ่าตัดที่น่าพอใจครับ (Very Good Prognosis)

Reference

Gary M Baxter, Manual of Equine Lameness, Wiley-Balckwell; 2001. page. 966-970

Mike w Ross, Sue J Dyson, Diagnosis and Management of Lameness in the horse; 2003. SAUNDERS. page 459-460

ไม่มีความคิดเห็น: