วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรามาคุยกันเรื่องยาที่ชื่อว่า Phenylarthrite forte กันครับ


โดยส่วนตัวแล้วผมจะไม่แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้ แต่ก็เจอคำถามว่าทำไมหมอบางคนแนะนำให้ใช้ยาตัวนี้ได้ คำตอบคือผมไม่ทราบครับว่าทำไมหมอท่านนั้นแนะนำแบบนั้น แต่สำหรับตัวผมเอง ผมไม่แนะนำเพราะเหตุผลตามนี้ครับ

Phenylarthrite forte ยาตัวนี้มีส่วนผสมของ NSAIDs แล้วก็ Steroid ครับ ทั้งสองตัวเป็นยาลดการอักเสบ (Antiinflammatory) ซึ่งทั้งสองตัวนี้ออกฤทธิ์ต่างกัน ซึ่งถ้าจะทำความเข้าใจต้องเข้าใจกระบวนการอักเสบก่อนครับ ว่าปกติมันทำงานยังไง แล้วเราถึงจะเข้าใจได้ว่ายาแต่ละประเภทมันไปออกฤทธิ์ลดการอักเสบได้อย่างไร ดูตามแผนภาพนะครับ
ณ จุดนี้ผมจะไม่อธิบายมากครับ ดูภาพแล้วคงเข้าใจได้ไม่ยาก มันยับยั้งซับซ้อนกันครับ Steroid ยับยั้งกระบวนการอักเสบตั้งแต่เริ่มต้นเลย ในขณะที่ NSAIDs จะจำกัดวงในการยับยั้งลงไปอีก สรุปคือยิ่งยับยั้งในวงกว้างมากเท่าไหร่ ผลข้างเคียงหรือผลเสียจากการใช้ยาก็ยิ่งมากเท่านั้น และเมื่อยับยั้งในวงกว้างแล้ว จะไปยับยั้งในวงแคบทำไมอีก นี่คือเหตุผลที่ผมไม่เลือกใช้ยาตัวนี้ครับ เพราะการที่เอายาสองตัวนี้มาอยู่ในขวดเดียวกัน มันบ่งบอกถึงการหวังผลในการลดการอักเสบอย่างแรง ซึ่งข้อดีในจุดนี้ถึงผู้บริโภคง่าย เพราะใช้แล้วดี หายเจ็บเลย ทำให้ยาตัวนี้ขายง่าย แต่ไม่ยอมบอกถึงผลเสียที่ตามมา ผลเสียที่ว่า ได้แก่ เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เพราะสิ่งที่ยาไปยับยั้งไม่ได้ยับยั้งแต่สารที่ทำให้เกิดการอักเสบเท่านั้น แต่ยังไปยับยั้งสารในกลุ่มใกล้เคียงกันที่มีผลต่อการทำงานตามปกติของร่างกายด้วย อาทิเช่น รบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด รบกวนการหมุนเวียนโลหิตไปที่ไตทำให้ไตเกิดเนื้อตาย และไตวายได้ในที่สุด รบกวนการสร้างเยื่อหุ้มทางเดินอาหารทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
ผมไม่แนะนำเพราะสำหรับผมแล้ว มันเกินความจำเป็นครับ ด้วยเหตุผลทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นครับ

คำถามก่อนที่ผมมักจะย้อนถามเสมอเมื่อถามถึงการให้ยาก็คือ ม้ามีอาการอะไร เป็นอะไร เพราะอะไร แล้วมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องใช้ยาเหล่านี้? เราข้ามขั้นตอนกันไปครับ เราข้ามไปให้ยาเลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา แต่เราไม่ได้วินิจฉัยกันเลย ซึ่งมันสำคัญยิ่งกว่าการรักษาอีก

ถ้าอยากรู้มากขึ้นอ่านต่อด้านล่างครับ จะลงลึกไปอีกนิดนึง แต่ถ้าขี้เกียจแล้วจบตรงนี้ก็พอครับ

การทำงานของยากลุ่ม Steroid จะไปยับยั้งกระบวนการอักเสบตั้งแต่เริ่มต้นเลยครับ โดยมันจะไปยับยั้งเอนไซม์ที่ชื่อว่า Phospholipase A2 ซึ่งปกติจะทำหน้าที่เปลี่ยน Phopholipids ที่อยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์ให้กลายเป็น Arachidonic acid ซึ่งเจ้า Arachidonic acid ตัวนี้แหละครับ ที่เป็นสารตั้งต้นของสารสื่ออักเสบต่างๆ อันได้แก่ Prostaglandins, Leukotrienes และ Thromboxanes ซึ่งแต่ละตัวก็มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป มีทั้งที่มีความจำเป็นต่อการทำงานตามปกติของร่างกาย และมีผลกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ

เพราะฉะนั้นการใช้ Steroid ก็จะยับยั้งทั้งกระบวนการอักเสบ และกระบวนการทำงานปกติของร่างกายด้วย เช่น กระตุ้นให้เกิดการสร้างเยื่อหุ้มทางเดินอาหาร ควบคุมการทำงานของเกล็ดเลือด การทำงานของไต ควบคุมการไหลเวียนโลหิต ฯลฯ ซึ่งถ้าโดนยับยั้งด้วย Steroid ก็จะทำให้กระบวนการปกติเหล่านี้ทำงานได้ลดลง ผลเสียก็ตามมา คนส่วนใหญ่ที่ใช้ยาโดยที่ไม่รู้ถึงขั้นตอนในการทำงานของมัน ก็จะไม่ได้คำนึงถึงผลเสียอื่นๆ

ส่วน NSAIDs จะทำงานโดยยับยั้งเอนไซม์ Cyclooxygenase (COX) ซึ่งจะเปลี่ยน Arachidonic acid ไปเป็น Prostaglandins ซึ่งปกติสารในกลุ่มนี้มีผลในการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และก็มีผลต่อการทำงานตามปกติของร่างกายเช่นกัน ซึ่งถ้าจะดูกันจริงๆ แล้วก็จะมีทั้งเอนไซม์ ตัว COX-1 และ COX-2 ซึ่งทั้งสองตัวนี้ก็จะทำงานต่างกัน ซึ่งยาในกลุ่ม NSAIDs ก็จะมีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อ COX-1 หรือ COX-2 หรือออกฤทธิ์แบบไม่เลือก คือเหมารวมทั้ง COX-1 และ COX-2 เลยก็มี ซึ่ง COX-1 มีผลต่อการทำงานตามปกติของร่างกายครับ ถ้าโดนยับยั้งไปก็ไม่ดีแน่นอน

ลองคิดดูครับว่า Steroid ยับยั้งไม่ให้เกิดการเปลี่ยน Phospholids ไปเป็น Arachidonic acid แล้ว ทำไมถึงต้องมี NSAIDs ไปยับยั้งการเปลี่ยน Arachidonic acid ไปเป็น Prostaglandins อีกครับ

ถ้าอยากรู้มากขึ้นอีก ตามไปอ่านสองเล่มด่านล่างนี้ครับ
Reference
Joseph J Bertone, Linda J I Horspool, Equine Clinical Pharmacology. London: Saunders Elsevier; 2004. p. 247-266
Patricia M Dowling, Equine Internal medicine 2nd edition, Pharmacologic principle. London: Saunders Elsevier; 2004. p. 169-233

ไม่มีความคิดเห็น: