วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เป็นแบบนี้ ใช้ยาอะไรดีครับ

วันนี้เจอคำถาม

Q: ตาม้าผมเป็นฝ้าขาว ถามร้านยาสัตว์แถวบ้านเค้าไม่รู้ ถามพี่ที่รู้จักก็ยังไม่ได้คำตอบ ผมร้อนใจมาก ทำยังไงดีครับ


ผมเลยตอบไปว่า
A: ตาเป็นฝ้าขุ่น มันเป็นได้ทั้งกระจกตา ช่องด้านหน้าของลูกตา เลนส์ตา และช่องด้านหลังลูกตา ซึ่งแต่ละอันมันก็มีวิธีรักษาต่างกัน ขึ้นกับสาเหตุด้วย ที่อันตรายคือถ้าตาขุ่นจากการที่กระจกตาเป็นแผล กระจกตาละลาย จากการติดเชื้อ ความดันในลูกตาเพิ่มมากขึ้น เหล่านี้ถ้าปล่อยไว้เพียงไม่นานก็ตาบอดได้ครับ


คำถามนี้ผมจบแค่นี้ แต่อยากขอขยายประเด็นที่ซ่อนอยู่นิดนึง (ขอบ่นหน่อยเหอะ)

............ .... ...

ผมสังเกตุหลายครั้งแล้วว่าเวลาคนเลี้ยงม้าเจอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ มักจะไม่ถามสัตวแพทย์

อาจจะเพราะหมอมันเรื่องมากเกินไป ไม่ยอมคำตอบที่รวดเร็ว ง่าย และถูกใจคนถาม แค่ชื่อยา ทำยังไง รักษายังไง ทำไมไม่ยอมบอก

เหตุผลของหมอคือ เพราะสิ่งที่คุณบอกมามันไม่สามารถจำเพาะเจาะจงลงไปถึงตัวโรค หรือตำแหน่งที่เกิดอาการได้เลย มันเป็นแค่อาการ หรือบางครั้งคำตอบที่คนต้องการ คืออะไรก็ได้ง่ายๆ เหมือนต้มมาม่าอ่ะ ถ้าวิธีการเยอะไม่เอานะ ขี้เกียจ

อย่างคำถามข้างต้น ตาเป็นฝ้า ขุ่น คุณบอกแค่นั้นก็จริง คำถามที่เกิดขึ้นในหัวของหมอก็คือ เป็นที่ไหน Cornea, Anterior Chrmber, หรือ Lens

ลองดูรูปข้างล่างนี้แล้วบอกผมหน่อยได้มั้ยครับว่าแต่ละอันที่เห็นเนี่ยมันคืออะไร จะอธิบายว่ายังไง


ซึ่งไม่จบแค่นั้น สมมุติว่าเป็นที่กระจกตา (Cornea) ก็ต้องดูอีกว่าเป็นที่เนื้อเยื่อชั้นไหน Epithelium, Stroma หรือ Descemet's membrane เพราะความรุนแรงก็จะต่างกันไป
ลองดูภาพนี้ประกอบครับ

เรียนในมหาวิทยาลัย 6 ปี ก็จริงแต่ไม่จบแค่นั้นนะครับ จบมาเป็นสัตวแพทย์แล้วก็ต้องฝึกฝนเพิ่มเติม หาความรู้ อบรม สัมมนา ต้องเก็บแต้มการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อนำแต้มไปแสดงกับสัตวแพทยสภาว่าในแต่ละปีหมอได้มีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม อัพเดทข้อมูลความรู้ วิธีการรักษาไปแล้วอย่างไรบ้าง ถ้าแต้มไม่ถึง 100 แต้มใน 5 ปี ไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ครับ (สัมมนาวันนึงได้ประมาณ 3 แต้ม)

อีกอย่างหมอจะบอกคุณยังไงว่ามันต้องตรวจอะไร และตรวจอย่างไรบ้าง เพราะคุณทำกันเองไม่ได้ เพราะ กว่าหมอจะทำกันได้ ต้องเรียน ต้องรู้ เข้าใจ และฝึกฝนว่าควรทำอย่างไร อย่างไหนเหมาะสม อย่างไหนไม่ควรทำ หมอเป็นพวกขี้กลัวครับ กลัวว่าจะทำให้ชีวิตนึงต้องแย่ลงเพราะน้ำมือหมอนี่แหละ (แต่บางคนอาจจะไม่กลัว)

นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมหมอถึงไม่อยากแนะนำยา ไม่อยากจะบอกอะไรมั่วๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตรวจ

อีกอย่างที่คับข้องใจคือ มักจะมีกลุ่มคนที่ชอบอวดอ้างตนเองบอกว่าไม่ต้องไปถามหมอหรอก ม้าเป็นแบบนี้ๆ ผมเคยทำแบบนี้ๆ หายมาแล้ว ให้ลองวิธีนั้นวิธีนี้ ยานั้น ยานี้ดู โดยที่เค้าไม่ได้บอกคุณเลยว่าถ้าไม่หายจะเป็นยังไง ความเสี่ยงคืออะไร และไม่คิดหาเหตุผลด้วยว่าทำไมถึงเป็น

พอคุณลองตามที่เค้าบอก แล้วอาการเจ็บป่วยของม้าคุณหาย ผมก็ดีใจด้วยครับ (อันนี้ดีใจจริงๆ ไม่ได้ประชด

แต่พอคุณลองตามที่เค้าบอก แล้วอาการเจ็บป่วยของม้าคุณชิบหาย เค้าก็จะบอกคุณ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

1.ตัวนี้อาการหนักมากแล้วเลยเอาไม่อยู่
2.ถ้าทำแบบนี้ไม่หายก็ไม่รู้จะช่วยยังไงแล้ว ต่อให้หาหมอก็ไม่หายอยู่ดี
3.มันมีภาวะแทรกซ้อน เป็นนู่นนี่นั่น
4.คุณทำอะไรผิดพลาด ไม่เหมือนที่ผมเคยทำ ไม่งั้นไม่เป็นแบบนี้หรอก
5.ต้องทำใจแล้วล่ะ เราทำกันดีที่สุดแล้ว มันรักษาไม่หายก็ต้องทำใจ

แล้วทุกอย่างก็จบ ใครรับกรรมครับ?

ม้าของคุณนั่นแหละครับ

เวลาหมอเจออะไรแบบนี้อยากจะย้อนกลับไปบ้าง
ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.อาการหนักมากแล้วอะไร ตรวจยังตรวจไม่เป็น แล้วมาบอกอาการหนักไม่หนักได้ไง
2.วิธีที่คุณทำไม่ว่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การรักษา ประเด็นอยู่ที่คุณไม่ได้มีการตรวจวินิจฉัย (และผมก็บอกแล้วว่าอาการแสดงของโรค ไม่ใช่ตัวโรคโว้ย) อ้อ แล้วส่งให้หมอก็ไม่หายตามที่เค้าบอกนั่นแหละ เพราะแทนที่เป็นน้อยๆ แล้วตรวจ รักษาให้มันถูกต้อง ก็โดนลองนู่นนี่ จนแม่งเป็นหนักมากๆๆๆๆ เอาเทวดามาเสกก็ไม่รอดเว้ย
3.คุณทำผิด คุณทำถูกก็เรื่องนึง ปัญหาคือถ้ารู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ตอนนี้เป็นยังไง คุณก็จะพอพยากรณ์โรคได้ว่าในอนาคตมันจะมีอาการอย่างไร จะมีอาการแทรกซ้อนมั้ย แล้วก็หาทางป้องกันซะ
4.ง่ายมาก ที่จะบอกว่าคนอื่นทำไม่ดี ไม่เหมือนที่ตัวเองเคยทำ เพราะคนที่ลองเอาไปทำ ก็จะคิดว่าตัวเองคงทำอะไรไม่ดี เพราะคนที่มาบอกเนี่ย เทพสุดๆ
5.กล้าพูดได้ยังไงว่ารักษากันดีที่สุดแล้ว??? ม้าเป็นอะไรยังไม่รู้เลย แล้วบอกว่ารักษาดีแล้ว ตรรกะอะไรวะ

...........

ขอจบการยกตัวอย่างที่หมออยากจะย้อนเพียงเท่านี้ละกันครับ

บ่นไปงั้น

เพราะถึงอย่างไรชีวิตจริง หมอก็จะพยายามอธิบายให้คุณฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับม้าของคุณ เพื่อให้คุณได้เข้าใจ ส่วนรักษาหายไม่หาย ก็ว่ากันเป็นเคสๆ ไป

เพราะรักษาจากชิบหาย ให้กลายเป็นหาย มันไม่ง่ายเลยครับ

ถึงเวลานั้นหมออาจจะต้องบอกเหมือนกันว่า ต้องทำใจแล้วล่ะ หมอพยายามทำดีที่สุดแล้ว

..........

#หมอร้องไห้ทำไม #ร้องไห้หนักมาก

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรามาคุยกันเรื่องยาที่ชื่อว่า Phenylarthrite forte กันครับ


โดยส่วนตัวแล้วผมจะไม่แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้ แต่ก็เจอคำถามว่าทำไมหมอบางคนแนะนำให้ใช้ยาตัวนี้ได้ คำตอบคือผมไม่ทราบครับว่าทำไมหมอท่านนั้นแนะนำแบบนั้น แต่สำหรับตัวผมเอง ผมไม่แนะนำเพราะเหตุผลตามนี้ครับ

Phenylarthrite forte ยาตัวนี้มีส่วนผสมของ NSAIDs แล้วก็ Steroid ครับ ทั้งสองตัวเป็นยาลดการอักเสบ (Antiinflammatory) ซึ่งทั้งสองตัวนี้ออกฤทธิ์ต่างกัน ซึ่งถ้าจะทำความเข้าใจต้องเข้าใจกระบวนการอักเสบก่อนครับ ว่าปกติมันทำงานยังไง แล้วเราถึงจะเข้าใจได้ว่ายาแต่ละประเภทมันไปออกฤทธิ์ลดการอักเสบได้อย่างไร ดูตามแผนภาพนะครับ
ณ จุดนี้ผมจะไม่อธิบายมากครับ ดูภาพแล้วคงเข้าใจได้ไม่ยาก มันยับยั้งซับซ้อนกันครับ Steroid ยับยั้งกระบวนการอักเสบตั้งแต่เริ่มต้นเลย ในขณะที่ NSAIDs จะจำกัดวงในการยับยั้งลงไปอีก สรุปคือยิ่งยับยั้งในวงกว้างมากเท่าไหร่ ผลข้างเคียงหรือผลเสียจากการใช้ยาก็ยิ่งมากเท่านั้น และเมื่อยับยั้งในวงกว้างแล้ว จะไปยับยั้งในวงแคบทำไมอีก นี่คือเหตุผลที่ผมไม่เลือกใช้ยาตัวนี้ครับ เพราะการที่เอายาสองตัวนี้มาอยู่ในขวดเดียวกัน มันบ่งบอกถึงการหวังผลในการลดการอักเสบอย่างแรง ซึ่งข้อดีในจุดนี้ถึงผู้บริโภคง่าย เพราะใช้แล้วดี หายเจ็บเลย ทำให้ยาตัวนี้ขายง่าย แต่ไม่ยอมบอกถึงผลเสียที่ตามมา ผลเสียที่ว่า ได้แก่ เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เพราะสิ่งที่ยาไปยับยั้งไม่ได้ยับยั้งแต่สารที่ทำให้เกิดการอักเสบเท่านั้น แต่ยังไปยับยั้งสารในกลุ่มใกล้เคียงกันที่มีผลต่อการทำงานตามปกติของร่างกายด้วย อาทิเช่น รบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด รบกวนการหมุนเวียนโลหิตไปที่ไตทำให้ไตเกิดเนื้อตาย และไตวายได้ในที่สุด รบกวนการสร้างเยื่อหุ้มทางเดินอาหารทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
ผมไม่แนะนำเพราะสำหรับผมแล้ว มันเกินความจำเป็นครับ ด้วยเหตุผลทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นครับ

คำถามก่อนที่ผมมักจะย้อนถามเสมอเมื่อถามถึงการให้ยาก็คือ ม้ามีอาการอะไร เป็นอะไร เพราะอะไร แล้วมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องใช้ยาเหล่านี้? เราข้ามขั้นตอนกันไปครับ เราข้ามไปให้ยาเลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา แต่เราไม่ได้วินิจฉัยกันเลย ซึ่งมันสำคัญยิ่งกว่าการรักษาอีก

ถ้าอยากรู้มากขึ้นอ่านต่อด้านล่างครับ จะลงลึกไปอีกนิดนึง แต่ถ้าขี้เกียจแล้วจบตรงนี้ก็พอครับ

การทำงานของยากลุ่ม Steroid จะไปยับยั้งกระบวนการอักเสบตั้งแต่เริ่มต้นเลยครับ โดยมันจะไปยับยั้งเอนไซม์ที่ชื่อว่า Phospholipase A2 ซึ่งปกติจะทำหน้าที่เปลี่ยน Phopholipids ที่อยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์ให้กลายเป็น Arachidonic acid ซึ่งเจ้า Arachidonic acid ตัวนี้แหละครับ ที่เป็นสารตั้งต้นของสารสื่ออักเสบต่างๆ อันได้แก่ Prostaglandins, Leukotrienes และ Thromboxanes ซึ่งแต่ละตัวก็มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป มีทั้งที่มีความจำเป็นต่อการทำงานตามปกติของร่างกาย และมีผลกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ

เพราะฉะนั้นการใช้ Steroid ก็จะยับยั้งทั้งกระบวนการอักเสบ และกระบวนการทำงานปกติของร่างกายด้วย เช่น กระตุ้นให้เกิดการสร้างเยื่อหุ้มทางเดินอาหาร ควบคุมการทำงานของเกล็ดเลือด การทำงานของไต ควบคุมการไหลเวียนโลหิต ฯลฯ ซึ่งถ้าโดนยับยั้งด้วย Steroid ก็จะทำให้กระบวนการปกติเหล่านี้ทำงานได้ลดลง ผลเสียก็ตามมา คนส่วนใหญ่ที่ใช้ยาโดยที่ไม่รู้ถึงขั้นตอนในการทำงานของมัน ก็จะไม่ได้คำนึงถึงผลเสียอื่นๆ

ส่วน NSAIDs จะทำงานโดยยับยั้งเอนไซม์ Cyclooxygenase (COX) ซึ่งจะเปลี่ยน Arachidonic acid ไปเป็น Prostaglandins ซึ่งปกติสารในกลุ่มนี้มีผลในการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และก็มีผลต่อการทำงานตามปกติของร่างกายเช่นกัน ซึ่งถ้าจะดูกันจริงๆ แล้วก็จะมีทั้งเอนไซม์ ตัว COX-1 และ COX-2 ซึ่งทั้งสองตัวนี้ก็จะทำงานต่างกัน ซึ่งยาในกลุ่ม NSAIDs ก็จะมีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อ COX-1 หรือ COX-2 หรือออกฤทธิ์แบบไม่เลือก คือเหมารวมทั้ง COX-1 และ COX-2 เลยก็มี ซึ่ง COX-1 มีผลต่อการทำงานตามปกติของร่างกายครับ ถ้าโดนยับยั้งไปก็ไม่ดีแน่นอน

ลองคิดดูครับว่า Steroid ยับยั้งไม่ให้เกิดการเปลี่ยน Phospholids ไปเป็น Arachidonic acid แล้ว ทำไมถึงต้องมี NSAIDs ไปยับยั้งการเปลี่ยน Arachidonic acid ไปเป็น Prostaglandins อีกครับ

ถ้าอยากรู้มากขึ้นอีก ตามไปอ่านสองเล่มด่านล่างนี้ครับ
Reference
Joseph J Bertone, Linda J I Horspool, Equine Clinical Pharmacology. London: Saunders Elsevier; 2004. p. 247-266
Patricia M Dowling, Equine Internal medicine 2nd edition, Pharmacologic principle. London: Saunders Elsevier; 2004. p. 169-233

ข้อเข่าล็อก Upward Fixation of the Patella (UFP), Stifle Lock


อาการข้อเข่าล็อก หรือ Upward Fixation of the Patella หรือ Stifle Lock จะเกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นที่ชื่อว่า Medial Patella Ligament (MPL) ขึ้นไปติดอยู่บนหัวกระดูกที่เรียกว่า Medial Trochlear ridge ของกระดูก Femur ซึ่งส่งผลให้ข้อเข่าไม่สามารถงอได้ บางตัวติดแป๊บๆ แล้วหลุดเอง บางตัวติดนาน บางตัวติดจนเกิดอาการบาดเจ็บอื่นๆ ตามมา จากสถิติพบว่า ม้าแคระ ม้าโพนี่ มีโอกาสเกิดได้มากกว่าม้าใหญ่ แต่จริงๆ ก็เกิดได้ถ้าม้าตัวนั้นมีความเสี่ยงตามปัจจัยด้านล่างนี้

ดูวีดีโอได้ที่นี่ครับ >> http://www.youtube.com/watch?v=pyL2JyxfSC4



ความเป็นไปได้ของการเกิดอาการนี้ได้แก่

  1. ม้าที่ลักษณะโครงสร้างชองขาหลังตรงเกินไป (Post-leg conformation, Straight-hind limb) หรืออาจเกิดจากการตัดแต่งกีบที่ส้นเตี้ยเกินไปจะทำให้ม้ายืนสอดขาเข้าไปด้านหน้ามากกว่าปกติ เกิดการยืนคล้าย Post-leg conformation ซึ่งผลของทั้งสองอย่างคือมุมของข้อเข่าจะมากกว่าปกติ มุมของข้อเข่าขณะที่ม้ายืนจะเปลี่ยนจาก 135 องศา ไปเป็น 140 องศาหรือมากกว่า ซื่งหากมุมของข้อเข่าขยับไปมากกว่า 145 ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการนี้ได้ง่ายขึ้น
  2. การเอาม้ามาใช้งานเร็วเกินไป หรือใช้งานม้าน้อยเกินไป ขาดการออกกำลัง ขังคอกมากไป เหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อม้าส่วนที่เชื่อมกับเอ็นเส้นที่ว่าอ่อนกำลัง ส่วนในม้าเด็กถ้าเอามาใช้งานเร็วไป ก็ลักษณะเดียวกัน คอกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอที่จะสามารถพยุงเส้นเอ็นไว้ได้ โอกาสที่ข้อเข่าจะยืดมากกว่าปกติก็มีมากทั้งคู่ พอยืดมากขึ้นก็เข้าลักษณะเดิมกับข้อ 1 คือมีโอกาสขึ้นไปติดได้มากขึ้น
  3. ขาดแร่ธาตุตั้งแต่เด็กๆ ทำให้โครงสร้างของร่างกายไม่แข็งแรง ยกตัวอย่างเช่น ขาด Copper ซึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Collagen fiber ที่พบในทุกแทบเนื้อเยื่อของระบบโครงสร้าง การขาดก็จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เส้นเอ็นไม่แข็งแรง โครงสร้างร่างกายผิดปกติไป
  4. อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ม้ามีการยืดขาหลังมากกว่าปกติก็ได้


ซึ่งทั้ง 4 อันหลักๆ นี้ อาจเกิดอันใดอันหนึ่ง หรือทั้ง 4 แบบเลยก็ได้

การแก้ไข หรือรักษาขึ้นกับความรุนแรง
  1. ตัดแต่งกีบได้มุมตามธรรมชาติ (ขาหลัง 50-55 องศา) การทำส้นให้ด้านในสั้นกว่าด้านนอกเล็กน้อยน่าจะช่วยได้ ในกรณีนี้ เพราะทำให้เกิดแรงตึงกับเส้นเอ็นเจ้าปัญหานี้มากขึ้น โอกาสที่จะไปติดก็อาจจะน้อยลงได้
  2. ออกกำลังกายม้าสม่ำเสมอ ด้วยการตีวงทรอท ควรสอนให้ม้ามีการสอดขาหลังด้วย เพราะหากม้าวิ่งแบบไม่สอดขาหลัง ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อบางส่วนไม่ได้ใช้งาน ก็ฝ่อลีบไป บางส่วนใช้งานมากกว่าปกติก็เกร็งและตึง ส่วนตารางการออกกำลังไม่ยากครับ แต่ต้องตรวจก่อนเพื่อให้รู้ว่าเป็นมากน้อยเพียงใด
  3. ให้อาหารเสริมต่างๆ จำพวกแร่ธาตุ รวมถึงตัวที่บำรุงกล้ามเนื้อ (ช่วยเสริมเรื่องการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ)
  4. ผ่าตัด มี 2 แบบ แยกเส้นเอ็น กับตัดเส้นเอ็น ขึ้นกับความรุนแรง
หากมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างเหมาะสม ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงนัก สามารถหายได้ครับ แต่ถ้าหากช่วยเรื่องการออกกำลังกาย การแต่งกีบ และให้อาหารเสริม แล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรพิจารณาเรื่องการผ่าตัด โดยการผ่าตัดแก้ไขอาการนี้ ให้ผลการผ่าตัดที่น่าพอใจครับ (Very Good Prognosis)

Reference

Gary M Baxter, Manual of Equine Lameness, Wiley-Balckwell; 2001. page. 966-970

Mike w Ross, Sue J Dyson, Diagnosis and Management of Lameness in the horse; 2003. SAUNDERS. page 459-460

พยาธิในตาม้า

ลป: หมอครับ ม้าผมมีพยาธิในลูกตา หมอมียาหยอดมั้ยครับ

หมอ: เอ่อ รู้ได้ไงครับว่าเป็นพยาธิครับ เห็นเป็นตัวเลยเหรอ

ลป: ผมไม่เห็นนะหมอ แต่ตามันขุ่นๆ ผมถามเพื่อนเค้าบอกว่าน่าจะเป็นพยาธิ แล้วเค้าจะมาเจาะออกให้ ผมไม่แน่ใจเลยโทรถามหมอนี่แหละครับ

หมอ: จริงๆ มันควรเจาะออกแหละครับ ถ้าเป็นพยาธิจริงๆ แต่ควรมั่นใจว่าใช่หรือเปล่า แล้วก็ไม่ควรเจาะกันเองนะครับ เพราะมันอันตราย

ลป: แล้วถ้าไม่เจาะนี่มียาหยอดมั้ยหมอ

หมอ: มันมีนะ หมอเคยได้ยินมา แต่โอกาสหายนี่ไม่รู้เหมือนกัน เห็นว่าบางเคสก็ตาบอด บางเคสก็หาย จะเสี่ยงมั้ยล่ะ

ลป: โอ้โห หมอเล่นขู่แบบนี้ ผมจะกล้าหยอดมั้ยเนี่ย

หมอ: ผมไม่ได้ขู่ มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ถ้าผมบอกว่าหายแน่นอน ทั้งๆ ที่ข้อมูลไม่ชัวร์นี่ผมก็หมาแล้ว ไม่ใช่หมอ

ลป: ครับ หมา

หมอ: เดี๋ยวครับ เดี๋ยว

…………



นี่คือคำถามที่ผมได้รับบ่อยๆ ที่คนมักจะถามกัน

มันเป็นอะไร

รักษายังไง

ยาอะไรดี

จะหายมั้ย


ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าเค้าไม่สงสัยกันเหรอว่าทำไมมันถึงเป็น มันมาจากไหน? เพราะถ้าเราถามกันแต่ว่าจะใช้ยาอะไร รักษายังไง เราก็ต้องเจอกับปัญหานี้ไม่รู้จบ เพราะเราไม่เข้าใจว่าโรคนั้นๆ มันมีที่มายังไง แล้วก็โทษฟ้าฝนแดดภูเขาลำธารต้นไม้ใบหญ้า แต่ไม่โทษตัวเอง


พยาธิมันสามารถไปอยู่ในลูกตาได้ครับ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่พบเจอได้ปกติ ถ้าเจอแสดงว่ามีอะไรสักอย่างผิดพลาดเกี่ยวกับการจัดการของคุณแล้วล่ะ เพราะปกติพยาธิชนิดนี้สามารถกำจัดได้ด้วยยาถ่ายพยาธินี่แหละครับ ถ้าคุณถ่ายเป็นประจำแล้วยังเจอ หมายความว่าชนิดของยาถ่ายพยาธิที่ใช้อาจจะไม่เหมาะสม ขนาดยาที่ใช้อาจจะไม่เหมาะสม หรือความถี่ที่ให้อาจจะไม่เหมาะสม จึงทำให้พยาธิชนิดนี้สามารถมีชีวิตรอดและออกลูกออกหลานได้


เพราะพยาธิที่เข้าไปในตาที่เจอๆ กันนั้นมันเป็นตัวอ่อนของพยาธิชนิดหนึ่งครับ ที่ปกติแล้วตัวเต็มวัยของมันจะอยู่ในช่องท้องของม้า พอมันได้กันแล้วก็จะมีลูก ลูกของมันสามารถเข้าสู่เส้นเลือดได้ ซึ่งการเข้าสู่เส้นเลือดของตัวอ่อนนี้เป็นไปตามวงจรชีวิตปกติของมัน เพื่อที่จะเดินทางไปสู่ม้าตัวอื่น โดยมียุงเป็นตัวพาหะ


การที่มันเดินทางไปตามเส้นเลือดได้นั้น ก็หมายความว่ามันไปได้ทุกที่ในร่างกาย เพราะฉะนั้นมันก็มีบ้างที่อาจจะหลุดเข้าไปที่ก้านสมอง ที่ไขสันหลัง และที่ตา เราก็เลยเจอพยาธิในลูกตาได้ครับ


พยาธิชนิดนี้จะใช้เวลา 3-7 เดือน (แล้วแต่สปีชีส์ของพยาธิ และชนิดสัตว์) หลังจากเข้าสู่ร่างกายม้า เพื่อพัฒนาตัวเองจนสามารถผลิตลูกหลานได้ ดังนั้นถ้าม้าของท่านมีพยาธิในลูกตา ก็หมายความว่าโปรแกรมการถ่ายพยาธิที่ผ่านมาที่ท่านใช้อยู่นั้น มันไม่โอเค

เข้าใจนะครับ........


เพราะฉะนั้นพิจารณาการถ่ายพยาธิม้าของท่านครับ ให้สัตวแพทย์เข้าไปจัดการ หรืออย่างน้อยปรึกษาสัตวแพทย์ก็ดีครับ เพราะตัวผมเองจะถ่ายพยาธิร่วมกับการตรวจอุจจาระทุกครั้ง เพื่อประเมินการใช้ยาว่ามันเหมาะสมหรือไม่


พยาธิอยู่ในลูกตาแล้วจะเป็นยังไง?

ตาอักเสบ บวม ขุ่น ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น และสุดท้ายตาบอดครับ ม้าบางตัวเอาตาไปถูกับสารพัดสิ่งจนเกิดบาดแผลภายนอกที่กระจกตา ที่เปลือกตา ซึ่งก็จะเพิ่มความรุนแรงของโรคขึ้นไปอีก


มันน่ารำคาญและรู้สึกยังไง คำตอบนี้ให้นึกถึงตอนที่เรามีฝุ่นเข้าตาครับ เราเจ็บ เราปวด เราไม่อยากลืมตา เราแสบ พยายามเอามือถู สารพัดที่จะทำเพื่อให้มันหายเจ็บ แต่หลายครั้งก็ทำให้เจ็บกว่าเดิม นั่นแค่ฝุ่นเข้าตาเรานะ แต่นี่ม้ามีพยาธิตัวนึงดิ้นดุ๊กดิ๊กๆ อยู่ข้างในลูกตาเลย โคตรทรมานครับ


แล้วจะรักษายังไง?


วิธีการรักษาที่เหมาะสมคือ การผ่าตัดเพื่อเอาตัวพยาธิออก ร่วมกับการถ่ายพยาธิด้วยยาที่เหมาะสม และหยอดตาเพื่อลดการอักเสบของตา


ส่วนที่คุยกันว่าการหยอดยาเพื่อฆ่าพยาธิที่ตานั้นสามารถทำได้ครับ แต่ผลการรักษาไม่แน่นอน ความเสี่ยงคือถ้าไม่ตอบสนองม้าจะตาบอดได้ในที่สุด และหลายครั้งมักจะกลับมาเป็นอีก หากไม่มีการเลือกใช้ยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสม ในโดสที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเลือกกันเอาเองครับ


ลป: ฮัลโหลหมอ นี่หมายความว่าผมเลี้ยงม้าไม่ดีเหรอหมอ

หมอ: ไม่ใช่ไม่ดีครับ คุณแค่ไม่รู้เท่านั้นเอง ตอนนี้รู้แล้วก็เอาไปปรับใช้นะ

ลป: โอเคครับหมอ ม้ากำลังขึ้นรถนะ จะไปถึงหมอในอีก 2 ชั่วโมง ผ่าแล้วดูแลให้ด้วยนะครับ

หมอ: เดี๋ยวๆๆ ให้เวลาหมอเตรียมตัวบ้างสิเฮ้ย

ลป: ไม่รู้ล่ะ รถออกแล้วหมอ เดี๋ยวเจอกัน

หมอ: ........... นี่มันสองทุ่มแล้วนะ..... TwT

ลป: 555555555555555555

เลือกเอาครับว่าจะรอให้ม้าเป็นโรคแล้วค่อยรักษา เพื่อเสี่ยงว่าจะหายหรือไม่ หรือจะป้องกันเพื่อลดโอกาสที่ม้าจะเป็นโรค

เพราะคุณภาพชีวิตม้า อยู่ในมือคุณครับ

(อ่านต่อในเรื่องเชิงวิชาการได้ครับ แต่ถ้าขี้เกียจอ่าน หยุดตรงนี้ก็โอเคครับ)


โรคพยาธิในตานี้จัดเป็นโรคที่พบได้น้อยครับ (แต่ทำไมบ้านเราพบบ่อยก็ไม่รู้นะครับ) ในหนังสือทางสัตวแพทย์ต่างๆ ก็แทบไม่มีเขียนไว้ มีก็อาจจะแค่สักย่อหน้า หรือสองย่อหน้าเท่านั้น (จากหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเป็นพันๆ หน้า) เพราะฉะนั้น เดี๋ยวจะสรุปให้อ่านกัน


พยาธิที่พบในตาม้าในที่นี้ หมายถึงพยาธิที่อยู่ในช่องด้านหน้าในลูกตา (Anterior chamber) (กรุณาดูภาพประกอบ)


พยาธิที่พบในช่องด้านหน้าในลูกตานี้มีอยู่ 3 ตัวด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นพยาธิตัวกลม ได้แก่ 1.Setaria 2. Thelazia 3.Onchocerca ซึ่งทั้งหมดนี้ปกติแล้วไม่ได้อาศัยอยู่ในช่องด้านหน้าในลูกตา ซึ่งในที่นี้ผมขอกล่าวถึง Setaria


Setaria เป็นพยาธิที่พบได้ในช่องท้องของม้า วัว แพะ แกะ โดยพยาธิชนิดนี้ไม่ก่อโรคที่รุนแรง แต่ทว่าตัวอ่อนของมันที่ชื่อว่า Microfilaria เหมือนเด็กที่ซุกซน ชอบไปท่องเที่ยวโดยอาศัยหลอดเลือดเหมือนเป็นรถไฟฟ้าเดินทางภายในตัวม้าซึ่งมันไปได้ทุกที่ ไปที่ไขสันหลัง ก็ทำให้ม้าเกิดอาการทางระบบประสาท ไปที่ตา ก็ทำให้เกิดอาการตาอักเสบรุนแรง และอาศัยยุง และแมลงดูดเลือดอื่นๆ เสมือนเครื่องบิน เพื่อพาไปเที่ยวยังสัตว์ตัวอื่นๆ โดยที่เมื่อตัวอ่อนเข้าไปที่สัตว์ตัวอื่นๆ ก็จะใช้เวลา 3-7 เดือน (แล้วแต่สปีชีส์ของสัตว์ และพยาธิ) ในการพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย และผลิตตัวอ่อนออกมาเพื่อส่งต่อลูกหลานของมันสืบไป 

สัตวแพทย์ญี่ปุ่นได้เคยเก็บสถิติไว้ว่าพบพยาธิชนิดนี้ในช่องท้องของม้าที่ผ่าซากทั้งหมด 66 ตัว จากม้า 305 ตัว คิดเป็นเปอร์เซนต์ที่สูงถึง 22%

จากการสำรวจพบว่าในประเทศทางแถบเอเชีย วัวจะมีพยาธิในตระกูลนี้ที่ชื่อว่า Setaria digitata ซึ่งสามารถไปติดม้า แกะ แพะ อูฐ รวมถึงมนุษย์ได้ด้วย ในอินเดีย พม่า และศรีลังกา ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทที่เรียกว่า Kumri ซึ่งหมายถึงอาการหลังอ่อนแรง ซึ่งเกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีแมลงมาก (ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น แมลงเพียบทั้งปี)


การใช้ยาถ่ายพยาธิ สามารถฆ่าพยาธินี้ได้ โดยพบว่ายาถ่ายพยาธิในกลุ่ม Ivermectin ในโดสที่เหมาะสม สามารถฆ่าพยาธิชนิดนี้ที่อยู่ในช่องท้องได้ และสำหรับตัวอ่อนที่อยู่ในช่องด้านหน้าในลูกตานั้น การรักษาที่ได้ผลแน่นอนที่สุดคือการผ่าตัด เพื่อเอาตัวพยาธิออก ร่วมกับการถ่ายพยาธิโดยการใช้ยาที่จำเพาะ


การรักษาโดยการใช้ยาหยอดตาเพื่อฆ่าพยาธิโดยตรงไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าจะสามารถฆ่าพยาธิดังกล่าวได้ แต่การหยอดตาเพื่อลดอักเสบ และลดโอกาสในการติดเชื้อก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่

จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า อัตราการหายจากการใช้ยาถ่ายพยาธิมาหยอดตา (ในการควบคุมของสัตวแพทย์) มีผลที่ไม่แน่นอน บางเคสตอบสนอง บางเคสไม่ตอบสนองเลย ต้องส่งผ่าตัด และหลายเคสตาบอด

จากข้อมูลดังกล่าว เราสามารถวางแนวทางการป้องกัน และรักษาโรคพยาธินี้ได้คือ
1.การป้องกัน 
ควรการถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการตรวจอุจจาระม้าเพื่อเลือกใช้ยาที่เหมาะสม และลดโอกาสในการดื้อยาถ่ายพยาธิ ควบคู่กับการลดจำนวนแมลงนำโรค

2.การรักษา
ควรส่งผ่าตัด ร่วมกับถ่ายพยาธิด้วยยาที่จำเพาะ และหยอดยาอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อลดการอักเสบ และติดเชื้อ โอกาสในการหายจากการรักษาด้วยวิธีนี้ค่อนข้างสูง


ส่วนการหยอดยาเพื่อฆ่าพยาธิที่ตาสามารถทำได้ แต่ผลการรักษาไม่แน่นอน ความเสี่ยงคือถ้าไม่ตอบสนองม้าจะตาบอดได้ในที่สุด และหลายครั้งมักจะกลับมาเป็นอีก หากไม่มีการเลือกใช้ยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสม ในโดสที่ถูกต้อง


การป้องกันไม่ว่าจะเป็นโรคใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% ครับ


แต่ก็อย่าลืมว่าการรักษาไม่ว่าจะเป็นโรคใดๆ หรือวิธีใดๆ ก็ตาม ก็ไม่สามารถรักษาได้ 100% เช่นกัน


คุณภาพชีวิตม้า อยู่ในมือคุณครับ



Reference

Brian C.Gilger, Equine Ophthalmology, SAUNDERS; 2005. Page 5, 437

Stephen M.Reed, Equine Internal Medicine, SAUNDERS; 2004. page 586, 659-660

Klaus-Dieter Budras, W.O. Sack, Sabine Röck, Anatomy of the Horse Fifth edition, Schlutersche; 2009. page 43

Derek C Knottenbelt, Reg R Pascoe, Color Atlas of Diseases and Disorders of the Horse, SAUNDERS; 2013. page 324-325