วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Everybody’s a doctor

ผมมีโอกาสได้ดูซีรีย์เรื่อง House มีคำกล่าวนึงที่คุณหมอในเรื่องได้กล่าวพร้อมทำตากลอกไปมาอย่างเหนื่อยใจว่า

Everybody’s a doctor 

เมื่อพิจารณาดูแล้วก็พบว่าจริง คนเราพยายามที่จะรักษาตัวเอง รวมถึงคนใกล้ตัว อาจเพราะว่าเคยเป็นมาก่อน หรืออ่านเจอมาในอินเตอร์เน็ต บางคนเวลาจะไปพบหมอหาข้อมูลเอาไว้เสร็จสรรพจะได้เถียงหมอก็มี

นี่ขนาดคนนะครับ นับประสาอะไรกับสัตว์ที่ไม่มีปากมีเสียง เจ้าของกรอกอะไร ฉีดอะไรก็คงไ
ด้แต่ร้องเพลงคลอไปว่า ฉันจะรับไว้เอง

หลายคนอาจจะคิดว่า หมอกลัวคนที่รู้มาก คนที่รู้ทันหมอว่าหมอจะทำอะไร อยากจะบอกดังๆ (ขนาดป้องปากตะโกน) ว่า ไม่ใช่ครับ

คนที่รู้ครึ่งๆกลางๆ ต่างหากที่น่ากลัวที่สุดสำหรับหมอ เพราะคนจำพวกนี้ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ตัวเองรู้นั้นมันไม่ใช่ทั้งหมด ปัญหาคือจะทำยังไงให้คนที่ไม่รู้หรือคิดว่าตัวเองรู้ได้รู้ว่าตัวเองไม่รู้หรือรู้ไม่จริง (งงมั้ยครับ)

คนเหล่านี้พบได้มากมายในวงการม้า โดยมีประโยคเด็ดที่ว่า ผมอยู่กับม้ามาตั้งแต่เด็ก ผมเห็นมาเยอะ ผมเจอมาเยอะ หมอจะมารู้มากกว่าผมได้ไง นี่ผมก็เรียนมาเหมือนกัน ของผมภาคปฏิบัติ ของหมอมันภาคทฤษฎี” (ยักคิ้วใส่หมอสองที)

คนจำพวกนี้มักจะเป็นกลุ่มคนที่เรียกกันว่า น้ำเต็มแก้ว บางคนเต็มซะจนล้นแล้วก็ยังพยายามไปยัดใส่ไว้ในแก้วคนอื่นด้วย คนจำพวกนี้เชื่อมันอย่างเต็มที่ว่าสิ่งที่ตัวเองรู้นั้นมันถูกแล้ว คำถามคือ จริงหรือ?

บางครั้งหมอพยายามอธิบายเท่าไหร่ ก็บอกว่าไม่ใช่หรอกหมอทฤษฎีกับปฏิบัติมันไม่เหมือนกัน ทฤษฎีมันเป็นแบบนั้น แต่ที่เจอเนี่ยมันไม่ใช่นะหมอมันเป็นแบบนี้…. %$#!$%^&*(&*^* (ขอปิดประสาทรับรู้ส่วนการฟัง)

ยอมรับครับว่าที่หมอเรียนมามันคือทฤษฎี ไม่เถียงสักคำเลยทีเดียว แต่คำถามคือทำไมเราต้องนั่งเรียนทฤษฎีกันหลังขดหลังแข็งขนาดนั้น คำตอบง่ายๆ คือ ถ้าทฤษฎีคุณยังไม่รู้ คุณจะไปปฏิบัติได้อย่างไร

ถ้าหมอเป็นคนที่เจออะไรแล้วก็ทำเลย โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรดีไม่ดี หรือให้ยาโดยแค่รู้เพียงด้านดีของมัน ลองผิดลองถูกในการให้ยาไปเรื่อยๆ แบบนั้นผมไม่เรียกว่าหมอครับ เพราะผลเสียที่เกิดขึ้นมันเกิดกับม้า ซึ่งเป็นชีวิตหนึ่งชีวิต

สัตวแพทย์ทุกคนมีเป้าหมายง่ายๆครับ คือ เมื่อสัตว์ป่วย จะทำอย่างไรให้สัตว์หายเจ็บป่วย และป้องกันไม่ให้กลับมาป่วยซ้ำอีก

แล้วอะไรทำให้การรักษานั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี.......

สิ่งนั้นคือ การวินิจฉัยหากยังไม่รู้ว่าสัตว์เป็นอะไร หรือหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ ไม่มีสัตวแพทย์คนไหน ลองให้ยาไปก่อนแน่ๆ เพราะยาทุกชนิดไม่ได้มีแต่ประโยชน์

ยาก็คือสารเคมีชนิดหนึ่ง ที่มีฤทธิ์ที่มีประโยชน์ แต่ในทางกลับกันหากใช้ผิดวิธีก็ก่อให้เกิดโทษอย่างมหันต์




ยกตัวอย่างนะครับ

ยาตัวหนึ่งเป็นยาที่นิยมใช้กันมากในวงการม้า สมมตินะครับว่าชื่อยา ACE และสมมติต่ออีกนิดนึงว่าเป็นยาที่มีสีเหลือง และสมมติว่าคนในวงการม้า(ที่ไม่ใช่หมอ) เรียกกันว่า ยาซึม

ประเด็นแรก ACE คืออะไร?

ในทางสัตวแพทย์ยาที่ผมสมมติชื่อว่า ACE นี้อยู่ในกลุ่ม Tranquilizer หรือภาษาไทยเรียกว่ายากลุ่มที่ออกฤทธิ์ระงับประสาท (เรียกยาซึมมันกว้างไป) ผลดีของมันก็คือจะทำให้ม้าลดอาการตื่นตระหนก ตกใจกลัว ทำให้ม้านิ่งขึ้น

ประเด็นที่สอง ยิ่งฉีดเยอะก็ยิ่งซึมมาก......................จริงหรือ???

ขอใช้เครื่องหมายคำถามสามตัวซ้อนกันถึงมันจะผิดหลักภาษาไทย
คำตอบคือจริงครับ ยิ่งฉีดเยอะยิ่งซึม แต่คำถามต่อมาคือที่ว่าฉีดเยอะเนี่ย มันคือเท่าไหร่กัน?? (ขอใช้เครื่องหมายคำถามอีกสองตัว)

เห็นปัญหาแล้วใช่มั้ยครับ ว่าเยอะของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน แล้วทีนี้จะทำยังไงกันดี?

ประเด็นที่สาม ถ้าฉีดเยอะเกินไป จะเป็นอะไรมั้ย??

คำถามนี้ผมถามเองครับ มีใครตอบผมได้บ้าง ขอมือหน่อยยยยยยยยย...................... เงียบ สงสัยไม่เก็ต

คำตอบนึงที่ได้ยินมาบ่อยๆ คือ ไม่เห็นเป็นไรเลยหมอ (สำหรับคำตอบนี้ขอหลบมุมไปกรี๊ดสักสองที อ๊ากกกกก)

สำหรับสัตวแพทย์เราก่อนจะใช้ยาแต่ละตัว สิ่งที่ต้องทราบก่อนว่ายาตัวนั้นคือยาอะไร ขนาดยาเท่าใด ผลข้างเคียงคืออะไร ต้องให้ทุกกี่ชั่วโมง ต้องให้ทางไหน ถ้าตอบคำถามพวกนี้ไม่ได้ ก็ไม่ควรใช้ยาตัวนั้นๆ ครับ

สำหรับ ACE ผลเสียคืออะไร ขนาดยาคือเท่าไหร่................................. ตอบครับ

ผลข้างเคียงหลักๆคือ ทำให้ความดันต่ำอย่างเฉียบพลัน

คำถามต่อไปคือ ความดันต่ำแล้วทำให้เกิดอะไร?...........ตอบครับ

ตอบได้มั้ย ผมให้เวลาอีกสองวิ........................... หมดเวลาครับ

คำถามต่อไป ขนาดยาคือเท่าไหร่

ได้ยินเสียงตอบกลับมาทันที 1-2 ซีซี ไงล่ะ...............................

แอด แอดดดดดดดด
ผิดครับ!!!!

ถ้าใครตอบขนาดยาเป็นหน่วยนี้ก็ไม่ใช่แล้วครับ ยาที่ผมสมมติชื่อว่า ACE นี้มันต้องคำนวณเป็นมิลลิกรัมต่อกิโลกรัมครับ คำนวณอย่างไรนั้น เรื่องมันยาวครับ ขี้เกียจพิมพ์

ลองย้อนกลับไปดูนะครับว่าแค่ยาตัวนี้ตัวเดียว เจอเครื่องหมายคำถามกันไปคนละกี่อันครับ.....

ตัวอย่างนี้ชัดเจนพอมั้ยครับ ว่าทำไมคุณถึงต้องรู้ทฤษฎี คุณถึงจะปฎิบัติได้อย่างถูกต้อง.............

แล้วจะบอกว่าทฤษฎีกับปฏิบัติไม่เหมือนกันอีกมั้ยครับ?
.
.
.
.
.
ก็คงบอกว่าต่างเหมือนเดิมสินะ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาก็ปฏิบัติกันไปด้วยความไม่รู้อยู่แล้วนี่ครับ

.
.
.
จบนะ

ไม่มีความคิดเห็น: