วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แผลในกระเพาะอาหารม้า โรคที่รุนแรงกว่าที่คุณคิด


gastriculcer 01แผลในกระเพาะอาหาร โรคที่เรามองไม่เห็น และอันตรายกว่าที่คิด
ม้าที่มนุษย์เลี้ยงเป็นม้าแข่ง มีโอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้สูงถึง 50% เนื่องจากสภาพการเลี้ยง และการใช้งานที่มากกว่าธรรมชาติ จากการสำรวจของ Dr.Nanna Luthersan พบว่าม้าแข่งที่ให้อาหาร 2 มื้อเช้า-เย็น และให้หญ้าเป็นมื้อไม่ได้มีให้กินอย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน ความเสี่ยงในการเป็นแผลในกระเพาะอาหารจะเพิ่มสูงถึง 80%


เวลาที่ม้าได้กินอาหารข้น สิ่งที่หลั่งออกมาคือน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดสูง

หากม้าไม่ได้รับอาหารหยาบอย่างเพียงพอ
การหลั่งน้ำลายจะลดลงเพราะการเคี้ยวลดลง เมื่อสภาวะทางเดินอาหารเป็นกรด การเคลื่อนที่ของอาหารภายในลำไส้เล็กก็จะเร็วขึ้น ผลเสียก็คือลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่ ย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ไม่หมด และเหลือตกลงไปยังลำไส้ใหญ่ ก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เช่น ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรดสูงกว่าปกติ ลำไส้ใหญ่ที่มีอาหารตกลงไปก็จะเสียสมดุลย์ แบคทีเรียในลำไส้ก็จะตายและปล่อยสารพิษออกมาและถูกดูดซึมเข้ามาในกระแสเลือด กรดและสารพิษเหล่านี้จะทำให้เยื่อเคลือบกระเพาะอาหาร (Mucosal barrier) บางลง และเสี่ยงต่อการเป็นแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น

หากม้าได้รับหญ้าอย่างเพียงพอ
หากมีหญ้าให้ม้ากินตลอดทั้งวันอย่างเพียงพอ จะทำให้ม้าเคี้ยวหญ้าและเกิดการหลั่งน้ำลายมาช่วยลดความเป็นกรด ช่วยลดความเร็วในการเคลื่อนที่ของอาหารในลำไส้เล็กให้ช้าลง ผลดีก็คือจะทำให้ลำไส้เล็กมีเวลาในการดูดซึมสารอาหารได้เต็มที่มากขึ้น และมีคาร์โบไฮเดรตเหลือลงไปยังลำไส้ใหญ่ในปริมาณน้อย ไม่รบกวนสมดุลย์ของลำไส้ และไม่เกิดผลเสียตามมา

ปริมาณอาหารข้นที่ให้ก็มีความสำคัญ
เนื่องจากธรรมชาติของม้าเป็นสัตว์ที่กินตลอดทั้งวัน กินน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง การให้อาหารเป็นมื้อๆ ในปริมาณมาก จะทำให้ม้าไม่สามารถย่อยได้ทัน และส่งผลให้สมดุลย์ของทางเดินอาหารเสียไป เกิดผลเสียตามมามากมาย (สำหรับม้าน้ำหนัก 400 kg ไม่ควรให้อาหารข้นเกินมื้อละ 2 kg) รวมถึงการให้อาหาร 2 มื้อ เช้า-เย็น ก็จะยิ่งทำให้สมดุลย์ของทางเดินอาหารเสียไป

ความเครียด
ความเครียดที่เกิดจากสภาพการเลี้ยง การฝึกซ้อม และสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อม้าก็มีผลด้วย เพราะเมื่อม้าเครียดก็จะทำให้มีการหลั่ง Cortisol มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างเยื่อเคลือบกระเพาะอาหารมาทดแทนได้ช้าลง เพิ่มโอกาสการเป็นแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น

ม้าที่อายุมากขึ้น
การสร้างเยื่อเคลือบกระเพาะก็จะทำได้ช้าลง การรักษาความสมดุลย์ของทางเดินอาหารทำได้น้อยลง เช่นเดียวกับคนที่อายุมาก จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายขึ้น

ม้าที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารจะมีอาการเสียดท้อง
เมื่อม้าเสียดท้องคนในวงการม้าส่วนใหญ่จะนิยมฉีดยาแก้ปวดที่ชื่อว่า Finadyne ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) ยาในกลุ่มนี้คนในวงการม้าจะรู้จักข้อดีว่าเป็นยาแก้ปวด แต่ไม่ทราบถึงผลข้างเคียงที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะการให้ยากลุ่ม NSAIDs สำหรับม้าที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร จะทำให้อัตราการสร้างเยื่อเคลือบกระเพาะอาหารลดลง อาการของโรคจึงหนักขึ้นกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ยาในกลุ่ม NSAIDs จึงถือเป็นยากลุ่มที่ไม่ควรใช้อย่างเด็ดขาดในกรณีที่สงสัยว่าม้าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มสเตอรอยด์ก็ไม่ควรใช้ด้วยเช่นกัน

คำถามที่พบบ่อย
ม้าที่เราสงสัยว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อมีไข้ขึ้นจะทำอย่างไร ในเมื่อหมอแนะนำว่าไม่ควรให้ยาลดไข้แก้ปวด คำตอบคือ การลดอุณหภูมิร่างกายไม่ได้มีแค่การฉีดยาเท่านั้น ในกรณีนี้เช่นนี้แนะนำให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวม้าเพื่อลดอุณหภูมิแทนการให้ยา เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและไม่ส่งผลเสียตามมา

การวินิจฉัยยืนยัน
โรคแผลในกระเพาะอาหารสามารถวินิจฉัยยืนยันได้โดยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscope) โดยจะต้องงดอาหารม้าก่อนส่องกล้องเป็นเวลา 18 ชั่วโมง โดยให้เอาสิ่งปูรองออกจากคอกด้วย และเอาน้ำออกก่อนส่องกล้อง 6 ชั่วโมง การส่องกล้องจึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่เช่นนั้นจะมีเศษอาหารมาบดบังบริเวณที่เราต้องการดู และไม่สามารถหารอยโรคได้

การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร 
ภายหลังการซักประวัติและตรวจร่างกาย หากพบว่าม้ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค สามารถให้ยาได้ทันที (Treatment trial)  เมื่อได้รับยาแล้วม้าจะอาการดีขึ้นภายในไม่กี่วัน แต่แผลจะใช้เวลานานจนกว่าจะหาย จึงต้องให้กินยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ร่วมกับการปรับการจัดการการให้อาหารไปพร้อมๆ กันด้วย แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการส่งกล้องกระเพาะอาหารเพื่อยืนยันโรค

อาการม้าที่บ่งบอกว่าม้าอาจจะเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • กินน้ำน้อยลง แสดงอาการเจ็บปวดช่องท้อง เกร็งช่องท้องตลอดเวลา
  • ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด ให้ยาแก้ปวดแล้วไม่หายปวด และอาการอาจจะแย่ลง
  • เมื่อสอดท่อเพื่อระบายสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ม้าจะอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • การปวดเรื้อรังก็จะส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ของม้า ทำให้ม้าจะหงุดหงิดง่ายขึ้น ขี้ตกใจง่ายขึ้น
  • ม้ามีอาการเสียดเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง มักเป็นหลังจากที่นำไปออกกำลังกาย หรือฝึกซ้อม หรือกิจกรรมใดๆ ที่ได้รับความเครียดมากขึ้น (แต่ม้าบางตัวอาจจะแสดงอาการครั้งแรงที่รุนแรงเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีประวัติการเสียดล่วงหน้าก่อนก็ได้)
ม้าที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารจะเจ็บมาก
ส่งผลให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลงทำให้อาหารคงค้างนานขึ้น หากเป็นมากจะส่งผลให้ลำไส้เล็กบีบตัวลดลงด้วย ด้วยเหตุนี้กระเพาะอาหารจะขยายตัวจากอาหารที่คงค้าง รวมถึงอาจมีการไหลย้อนของอาหารจากลำไส้เล็กกลับมาด้วย ม้าก็จะแสดงอาการเจ็บปวดมาก หากกระเพาะอาหารมีการขยายตัวมากๆ อาจทำให้กระเพาะอาหารแตกได้ และม้าจะตายในที่สุด แต่หากสอดท่อระบายสิ่งที่คงค้างในกระเพาะอาหารแล้วกระเพาะจะหดตัว ม้าก็จะอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

gastriculcer 02 gastriculcer 03  gastriculcer 04

สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลสุขภาพม้าไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค เพราะเป็นสิ่งที่เราได้ง่ายที่สุด การรักษาและการวินิจฉัยเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น การป้องกันด้วยการปรับการจัดการการให้อาหาร เป็นสิ่งที่เจ้าของม้าหรือผู้ดูแลสามารถทำได้โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้แต่น้อย แต่สำหรับการวินิจฉัยและการรักษานั้น ทำได้ไม่ง่าย และมีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตม้าได้เลยทีเดียว


เราเลือกได้ว่าจะหยิบยื่นสิ่งใดให้กับม้า เพราะชีวิตม้าก็อยู่ในมือของคุณเอง.....

ที่มา: เว็บไซต์โรงพยาบาลม้าโคราช www.thehorsepital.com

ไม่มีความคิดเห็น: