วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ไข้ลงกีบ ทางเลือกที่คุณเลือกได้

ไข้ลงกีบ ทางเลือกที่คุณเลือกได้

"ไม่ไหวแล้วหมอ ไข้มันลงกีบ ทำอะไรไม่ได้แล้วล่ะ ผมเห็นมาหลายตัวแล้ว รอวันตายอย่างเดียว"

หลายต่อหลายครั้งที่ได้ยินคำพูดในลักษณะนี้ เป็นคำพูดในลักษณะที่ถอดใจ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น โดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อเผชิญหน้ากับโรคนี้..... โรคไข้ลงกีบ

ไข้ลงกีบคืออะไร?

"ก็พอม้ามันเป็นไข้ พอเป็นหลายๆวัน ไข้ไม่ลด มันก็จะเริ่มลงมาที่กีบไงหมอ"

....

หลายต่อหลายคนเชื่อเช่นนั้นครับ
จะว่าไปชื่อภาษาไทย ไข้ลงกีบ มันก็ไม่ถูกต้องนัก และสร้างความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะโรคนี้ไม่ใช่ว่าม้าเป็นไข้แล้วมันจะวิ่งลงไปที่กีบ

ไข้นะไม่ใช่แมลงสาบ.......


ไข้ลงกีบ ในภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกว่า Laminitis (ลามิไนตีส) ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษ ดูจะอธิบายได้ดีกว่า ตรงตัวตรงประเด็นที่สุด เพราะความจริงโรคนี้เป็นการอักเสบ (-itis) ของลามินา (Lamina)

Lamina (ลามินา) คือส่วนที่เชื่อมผนังกีบด้านใน และกระดูกภายในกีบ (Coffin bone) หากเกิดการอักเสบ สิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นการแยกออกจากกันระหว่างผนังกีบ และกระดูกที่อยู่ด้านใน

ลองนึกภาพตอนที่เราตัดเล็บแล้วเข้าเนื้อ หรือใครเคยบาดเจ็บแล้วเล็บถอดนะครับ มันเจ็บปวดระดับนั้น เพราะกีบม้าและเล็บของเราเป็นโครงสร้างเดียวกัน มีเส้นเลือด เส้นประสาทจำนวนมากบริเวณปลายเล็บ
 คนเราสามารถเลี่ยงไม่ให้เกิดน้ำหนักกดทับลงบนเล็บให้เจ็บเพิ่มได้ แต่ม้าไม่มีทางเลือกครับเพราะม้ายืนอยู่บนกีบ ต้องรับน้ำหนักร่างกายที่กดลงมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยง

ความเจ็บปวดเป็นเช่นไรนั้น ผมไม่ทราบ แต่น่าจะเจ็บมากแน่ๆ (เจ็บเหมือนคลอดลูกหรือไม่ก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยเช่นกัน)

แล้วการอักเสบนี้มาจากไหน? เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมอยู่ดีๆ ถึงเป็น

คำตอบที่ผมมักจะตอบเสมอ คือ "มันไม่ได้อยู่ดีๆ แล้วเป็นครับ มันอยู่ไม่ดีต่างหากมันถึงได้เป็น........ "

ครับ หมอกวนตีนครับ 555

แต่ผมไม่ได้ยียวนกวนประสาท มันคือความจริงครับ ความจริงที่ต้องรับมันให้ได้ว่าปัญหาเกิดจากสิ่งที่ตนเองทำ ไม่ใช่ความผิดม้า

มันเกิดจากการจัดการ ปัญหานี้เกิดจากการให้อาหารที่ไม่เหมาะสมครับ ยกตัวอย่างเช่น ให้อาหารเม็ดปริมาณมากเกินไปต่อมื้อ( >1.5 kg ต่อม้าน้ำหนัก 400-450 kg) และให้แค่ 2 มื้อ เช้า-เย็น การให้อาหารเช่นนี้จะทำให้ม้ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมากขึ้น

พอถึงบรรทัดนี้ หลายๆ คน ก็คงจะทำหน้าเป็นเครื่องหมายคำถามใส่หมอ หรือบางคนก็จุดฟูลสต๊อปเต็มหน้า............โรคนี้อาจทำความเข้าใจยาก แต่ก็เข้าใจได้ครับ ถ้าลองฟัง

เมื่อเราให้อาหารที่ไม่เหมาะสมจะทำให้สมดุลย์ในลำไส้สูญเสียไป แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้จะตายเพราะไม่สามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมที่เป็นกรดภายในลำไส้ได้ สิ่งที่ออกมาจากผนังเซลล์ของแบคทีเรียพวกนี้คือสารพิษ ที่เรียกว่า Endotoxin (เอ็นโดท๊อกซิน) สุดท้ายจะเข้าสู่กระแสเลือดเกิดภาวะเลือดเป็นพิษ (Endotoxemia) และไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งเอนไซม์ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Methallo protein ซึ่งจะไปย่อยผนังของลามินา รวมถึงเมื่อเลือดเป็นพิษ ความสามารถในการขนส่งออกซิเจนก็จะทำได้ลดลง ทำให้เซลล์ของลามินาตายเพิ่มมากขึ้น เกิดการอักเสบของลามินาในที่สุด

และนั่นทฤษฎีหนึ่งที่พยายามอธิบายที่มาของโรคนี้...... ไข้ลงกีบ....... 

เมื่อไข้ลงกีบเกิดขึ้น สิ่งที่คนมักฉีดให้กับม้าก็คือ ยาลดการอักเสบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Phenylbutazole หรือ Prednisolone หรือไม่ก็ให้น้ำเกลือ

อย่างแรก Phenylbutazole หรือที่เรียกกันว่า บิ๊ว (Butasyl) ลดการอักเสบได้ แต่ถ้าให้มาก และติดต่อกันเป็นเวลานาน สิ่งที่ตามมาคือ แผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้ม้าตายได้ในเวลาอันสั้น (ที่ให้กัน 15-20 CC นั่นก็ถือว่าเป็นสองถึงสามเท่าของโดสปกติแล้วครับ)

ลำดับที่สอง Prednisolone ยานี้ตัวเป็นสเตอรอยด์ครับ ส่งผลให้เส้นเลือดปลายระยางค์หดตัว.......
 สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นเลือดปลายระยางค์หดตัวก็คือ เลือดที่ไปเลี้ยงลามินาก็ลดลงอีก ยิ่งทำให้อักเสบมากขึ้น

ไม่ช่วยแล้วยังซ้ำเติม.........

ในกรณีที่ม้าแสดงอาการไข้ลงกีบแล้ว หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการนี้ สิ่งที่ช่วยได้มากที่สุด และให้ผลดีที่สุดไม่ใช่การฉีดยาครับ เป็นวิธีง่ายๆ ที่ฟังแล้วอาจจะหนาวววววววววววววววววววว เพราะว่าต้องใช้ "น้ำแข็ง"

ไม่ขำสินะ.........
 ครับ ใช้น้ำแข็งประคบตั้งแต่ไรกีบขึ้นไปจนถึงข้อเข่า อาจใช้กระสอบมาตัดให้ก้นทะลุ หรือใช้ขากางเกงเก่าก็ได้ สวมเข้ากับขาม้าแล้วมัดด้านล่าง เปิดช่องด้านบนไว้ แล้วใส่น้ำแข็งลงไป พอหมดก็เดิม โดยจากผลการวิจัยและเก็บข้อมูลของหมอหลายๆ ท่าน พบว่าการทำแบบนี้ ติดต่อกันเป็นเวลา 48 ชั่วโมง จะลดโอกาสในการเกิดโรคได้ดีที่สุด (ผมได้ข้อมูลยืนยันล่าสุดจากการไปสัมมนาที่ Hongkong Jockey club ในหัวข้อ Equine medicine course เมื่อปลายปี 2013)

และการใช้น้ำแข็งนี้จะได้ผลดีที่สุด หากเราทำตั้งแต่ม้ายังไม่แสดงอาการ แต่เกิดโรคที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้ม้ามีภาวะเลือดเป็นพิษ (Endotoxemia) เช่น ท้องเสีย 

ถ้ามีแนวโน้ม ก็อย่ามัวลังเล รีบทำครับ ค่าน้ำแข็ง ค่าขากางเกง ความเหนื่อยที่ต้องทำ ผมว่ามันคุ้มถ้าจะแลกกับการที่ม้าตัวนึงไม่ต้องเป็นโรคนี้ หรือถ้าคิดว่าไม่จำเป็นก็รอให้เป็นก่อนก็ได้ครับ แล้วค่อยมานั่งเสียใจทีหลัง

แต่ก็อย่าลืมว่าทั้งหมดทั้งมวลมันเกิดจากการจัดการของเราทั้งสิ้น

การรักษาโรคนี้ให้หายสามารถทำได้ครับ ซึ่งใช้เวลานาน และใช้ค่าใช้จ่ายสูง  แต่ถ้าดูแลอย่างดีก็หายเป็นปกติได้ครับ (เล็บม้าใช้เวลาในการเจริญจากบริเวณไรกีบลงไปถึงพื้น ใช้เวลา 8 เดือน) สิ่งที่ต้องทำคือ ปรับเรื่องการให้อาหาร ประเมินอาการด้วยการเอ๊กซเรย์ วางแผนการตัดแต่งกีบ รองกีบด้วยยางและซิลิโคน ดูแลเรื่องความสะอาด และอื่นๆ อีกมากมาย

การรักษานั้นมีหลายขั้นตอน และใช้เวลานาน มันไม่ง่ายครับ

มีบ้างบางกรณีที่เกิดการอักเสบของลามินาเนื่องจากการถ่ายน้ำหนักจากขาอีกข้างที่เจ็บ จนทำให้ข้างที่เหลือต้องรับน้ำหนักสองเท่า จนเกิดการอักเสบครับ แต่เท่าที่พบมาไม่บ่อยนัก และถึงจะพบจากสาเหตุนี้ ก็มักมีสาเหตุเรื่องการให้อาหารร่วมอยู่ด้วยเสมอๆ
........
........

มาถึงบรรทัดนี้ เรื่องเกี่ยวกับไข้ลงกีบยังไม่หมด ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก แต่มันจะลงลึกไปเรื่อยๆ และอาจจะน่าเบื่อเกินไป

หลายคนอาจถอดใจเมื่อเจอกับโรคนี้เข้าไป แต่ลองคิดทบทวนให้ดีๆ ครับ คุณยังมีทางเลือก

1. ในเมื่อการรักษามันยากนัก ทำไมเราจึงไม่เลือกที่จะป้องกัน ทั้งๆ ที่การป้องกันก็เปลี่ยนได้ง่ายๆ ที่ตัวเรา ขยันขึ้นอีกนิด ทำความเข้าใจกับคนเลี้ยงให้ตรงกัน เพราะผมว่าคงไม่มีใครอยากให้ม้าเป็นไข้ลงกีบแน่ๆ

2. หาม้าตัวใหม่สิครับ ตัวเก่าก็ทิ้งไป ตายๆ ไปซะ คนดูแลจะได้สบาย

.
.
.
.
.

แน่นอน ข้อที่ 2 น่ะ มีคนเคยพูดกับผมเช่นนั้น และผมแค่ประชด


ตนเองสร้างปัญหา แต่ไม่รู้ว่าปัญหานั้นเกิดเพราะตนเอง โทษแต่อย่างอื่น ลองดูนี่ก่อนสิครับ....... (ยื่นกระจกให้)

ไม่มีความคิดเห็น: