วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กีบม้า หัวใจอีกดวงของม้า


กีบม้าเป็นจุดที่อยู่ต่ำสุดของตัวม้า ซึ่งตรงข้ามกับความสำคัญที่คงต้องจัดให้อยู่ในลำดับต้นๆ เพราะหากกีบม้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ปัญหาต่างๆ ที่ตามมาก็จะน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย

กีบม้าควรได้รับการดูแลทุกวัน ด้วยการแคะกีบ และล้างทำความสะอาด
การแคะกีบและล้างกีบทุกวัน มีประโยชน์อย่างมาก เพราะสิ่งที่ติดอยู่ภายใต้กีบอาจจะไม่ได้มีแค่เศษดิน เศษทราย อาจจะเป็นหิน หรือกรวดก้อนเล็กๆ ที่เข้าไปติดอยู่ในร่องต่างๆ และเศษหินเหล่านี้เองที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบในภายหลังได้ รวมทั้งขณะที่เราทำความสะอาด เราก็จะสามารถสำรวจดูความผิดปกติของพื้นกีบได้ ว่ามีการอักเสบหรือไม่ เป็นการดูแลประจำวันที่ช่วยป้องกันโรค และหากมีการบาดเจ็บใดๆ ก็จะสามารถพบได้เร็ว อาการของโรคก็จะไม่รุนแรง

การตัดแต่งกีบม้าก็มีความสำคัญ หากทำดีก็ช่วยป้องกันปัญหาได้
การตัดแต่งกีบม้าและการใส่เกือก เป็นเรื่องที่เราควรให้ความใส่ใจมากขึ้น หลักการในการสังเกตุง่ายๆ คือ เราต้องรู้เสียก่อนว่ากีบปกติของม้าควรมีลักษณะใด เพราะหากเรารู้ว่าปกติเป็นอย่างไรแล้ว เมื่อเห็นสิ่งที่ผิดปกติไปก็จะสามารถทราบได้ทันที และบอกได้ว่าผิดไปจากเดิมอย่างไร

แล้วกีบม้าที่ปกติเป็นอย่างไร?

ส้นกีบด้านนอกกับด้านในไม่เท่ากัน
กีบม้าที่ปกติดูได้ไม่ยาก คำที่ควรท่องจำไว้มีเพียงคำเดียวคือ “ความสมมาตร”

หากเราใส่รองเท้าที่ส้นของรองเท้าด้านนึงสึกกว่าอีกด้าน เวลาเรายืนเราจะเป็นอย่างไร? ม้าก็เป็นเช่นกัน หากส้นกีบด้านในและด้านนอกสูงไม่เท่ากัน ม้าก็จะยืนขาเบี้ยว แรงกดที่ลงไปบนกีบก็จะไม่เท่ากัน จุดใดที่รับแรงกดมากก็จะมีโอกาสเจ็บมากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากเราใส่รองเท้าแตะที่ตัดส้นออก เวลาเรายืนเราจะเป็นอย่างไร? ม้าก็เป็นเช่นกัน หากส้นกีบเตี้ย เส้นเอ็นด้านหลังของกีบก็จะรับแรงตึงมากกว่าปกติ ทีนี้พอม้าไปวิ่งก็จะรับแรงตึงมากกว่าปกติ จากที่ปกติก็มากอยู่แล้ว โอกาสในการเจ็บก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย




มุมกีบของขาแต่ละข้างแตกต่างกัน

หากเราใส่รองเท้าคัตชูข้างซ้าย ส่วนข้างขวาเป็นรองเท้าแตะ เวลาเราเดินก็จะรู้สึกอย่างไร? ม้าก็เช่นกัน หากกีบเท้าซ้ายและขวาสูงต่ำต่างกันมาก เวลาเดินน้ำหนักที่ลงไปแต่ละข้างก็จะไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่ง และม้าแข่งหนึ่งตัวน้ำหนักเกือบครึ่งตัน










กีบแบบนี้เรียกว่า Long toe low heel
 (ปลายยาว ส้นเตี้ย) มุมกีบผิดรูป
หากเราใส่รองเท้าตีนกบ เวลาเราเดินจะเป็นอย่างไร? ม้าก็เช่นกัน หากเราตัดแต่งกีบให้ส้นกีบเตี้ย และด้านหน้ากีบยาว เวลาก้าวเดิน หรือวิ่ง การก้าวขาจะทำได้ช้าลง และปกติม้าจะก้าวขาหลังมาเกือบจะซ้ำรอยเดิมที่ขาหน้าเหยียบไว้ หากขาหลังก้าวมาแล้ว แต่ขาหน้ายังไม่ก้าวไป ม้าก็จะเตะข้อหรือน่องของตัวเอง ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงได้






การใส่เกือบที่เล็กเกินไป
หากเราใส่รองเท้าที่เบอร์เล็กเกินไป เราจะรู้สึกอย่างไร? ม้าก็เช่นกัน เวลาที่เราใส่เกือกเล็กกว่าที่ควรจะเป็น เวลาเดินก็จะเกิดแรงกดที่ส้นมากกว่าปกติ ทำให้ส้นล้มและทอดนอนกว่าปกติได้ เป็นสาเหตุที่ว่าเวลาแต่งกีบถึงจะไม่ได้ตัดตรงส้น แต่ส้นก็ยังเตี้ยอยู่ดี และผนังกีบตรงส้นก็จะม้วนเข้าไปด้านใน

เพราะกีบม้าที่ดี ความสูงของส้นต้องเท่ากัน มองจากด้านหน้าเมื่อลากเส้นแบ่งตรงกลาง กีบต้องได้สมมาตรกัน มุมของกีบที่ดีขาหน้าควรอยู่ที่ประมาณ 45 องศา ส่วนขาหลังควรอยู่ที่ประมาณ 50-55องศา เกือกที่ใส่ต้องเหมาะสมกับขนาดของกีบ ไม่ใช่ตัดแต่งกีบให้เข้ากับขนาดของเกือก 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เจ้าของและเทรนเนอร์สามารถช่วยกันดูแล และให้คำแนะนำกับช่างเกือกได้ เพราะการตอกเกือกเป็นงานที่หนักมาก จนบางครั้งช่างก็เหนื่อยเสียจนมองข้ามจุดเล็กๆ น้อยๆ นี้ไป คนเลี้ยงสามารถช่วยทำความสะอาดกีบ และสำรวจความผิดปกติต่างๆ ได้ สิ่งที่สัตวแพทย์ทำได้มีแค่การให้คำแนะนำ เมื่อเกิดปัญหาไปแล้ว........

ป้องกันที่ต้นเหตุ ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา ม้าก็ไม่ต้องเจ็บจากสิ่งที่ป้องกันได้ สามารถไปแข่งได้อย่างเต็มภาคภูมิ

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทำไมหมอคุยแต่เรื่องวิชาการ


ผมโดนพี่คนเลี้ยงม้าบ่น.....
"หมอนี่นะไม่ไหวเลย คุยกันทีไร เอาวิชาการใส่ผมทุกที" พี่แกพูดไปก็หัวเราะไป

"ถ้าหมอไม่เป็นคนพูดเรื่องวิชาการ แล้วใครจะพูดล่ะพี่" ผมตอบกลับไป

"ทำไมหมอไม่มาดูที่ผมทำนี่ เค้าสืบต่อกันมาแต่ไหนแต่ไร เป็นสูตรโบราณเก่าแก่เลยนะ มานี่ๆเดี๋ยวผมสอนให้" แกพูดพร้อมกับกวักมือเรียก

ผมก็ได้แต่ตามไปดูว่าพี่แกจะทำอะไร พบว่าพี่แกเอามะนาวมาฝานแล้วเอาปูนแดงโปะบนมะนาว แล้วเอาไปถูกับแข้งม้า ตัวที่เสียวแข้ง....

ทีนี้สนุกละ

me: เอางี้เลยเหรอพี่ มันจะกัดผิวหนังมั้ยน่ะ
he: เอางี้แหละหมอสูตรโบร่ำโบราณ
me: แล้วพี่ต้องทาแบบนี้กี่วันถึงจะอาการดีขึ้น
he: มันก็แล้วแต่ตัวนะ ส่วนมากอาทิตย์นึงก็ดีขึ้น ช่วงนี้ก็พาเดินอย่างเดียว
me: ทำไมมันถึงดีขึ้นล่ะพี่
he: เอ๊าาาาา ก็นี่ไงหมอ ผมทำนี่ ทุกวัน มันก็เลยดีขึ้น
me: มะนาวกับปูนมันทำอะไร?
he: ก็ช่วยสมานแข้ง ดูดน้ำเหลืองออก ทาไผมันก็เลยยุบลง เนี่ยวันก่อนบวมกว่านี้อีกนะ
me: ผมว่ามันดีขึ้นเพราะพี่ประคบน้ำแข็งนะ แล้วก็พักม้าด้วยไง พอไม่ได้ไปกระแทก อาการมันก็ดีขึ้น ที่ผมบอกไงพี่ พักเฉยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้น
he: หมอนี่เถียงผม มีแต่วิชาการ ม้าเนี่ยเสียวแข้งเกือบทุกตัว เราต้องประคองไปเรื่อย จนได้อายุมันทีนี้ก็ไม่เจ็บละ
me: เป็นปกติเลยเหรอพี่ เสียวแข้งทุกตัว พออายุมากขึ้นก็จะหายเอง เป็นปกติเลยเหรอ?
he: ใช่ๆ มันเป็นปกติเลยหมอ
me: นี่ไงพี่คำตอบ พี่ก็รู้ว่ามันเป็นปกติ พี่ก็ยังฝืนเอาม้าเจ็บไปซ้อมเนอะ..... (ยิ้มหวาน........;)


1. ม้าเสียวแข้ง พักสักอาทิตย์นึงอาการก็เริ่มดีขึ้น เพราะแค่พาเดิน ไม่ได้รับน้ำหนักมาก แต่พอเอาไปซ้อมอีก แล้วก็กลับมาเสียวแข้งอีก เพราะอาการเท่านั้นที่ดีขึ้น แต่กระดูกมันยังไม่หาย พอรับแรงกระแทกอีก ก็เจ็บอีกเป็นธรรมดา


2. พี่แกบอกว่าปูนแดงกับมะนาวช่วยดูดน้ำเหลือง ทำให้ตรงที่บวมมันยุบลง ร่างกายมีระบบน้ำเหลืองนะครับ ปกติมันก็มีการสร้างและดูดกลับในระดับที่พอดีกัน เลยไม่บวม ที่บวมเพราะมันอักเสบแล้วสร้างมากขึ้น พอพี่ประคบน้ำแข็ง และพักม้า มันก็ลดการอักเสบ ก็สร้างออกมาลดลง มันก็ต้องยุบเป็นธรรมดา


3. ม้าเสียวแข้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติในม้าที่กำลังโต สิ่งที่ควรทำคือพักซ้อมครับ นึกถึงตัวเราถ้าเราเจ็บขา เดินแล้วเสียวหน้าแข้ง เราจะทำอะไร เราจะหายามาทาให้กัดผิวหนังตรงหน้าแข้ง ให้ตัวเองเจ็บหว่าเดิม? เอามะนาวกับปูนแดงทา? หรือไง?


4. สูตรโบราณ โดยส่วนตัวผมชอบนะ แต่หาเหตุผลให้ผมหน่อย ถ้าดีผมเอามาใช้แน่ๆ แต่ถ้าทำไปเพราะเค้าทำต่อๆกันมา โดยบอกว่า "เค้าว่ากันว่า" ผมก็ว่ามันแปลกๆนะ


ผมก็ไม่ได้เกลียดพี่แกนะ แต่ไม่รู้ว่าพี่แกเกลียดผมมั้ย ผมมักจะดูว่าพี่แกทำอะไร แล้วก็โยนคำถามไปเรื่อยๆ พอแกตอบไม่ได้ ผมก็จะบอกแกว่าเพราะอะไร แต่แกจะเชื่อมั้ย ก็อีกเรื่องนึง

.......เพราะคนเราเลือกจะเชื่อ ในสิ่งที่เค้าต้องการเชื่อ


หรือเพราะว่าผมโรคจิต พยายามพูดให้ฟัง เพื่อวันนึง ผมจะได้พูดอย่างเต็มปากได้ว่า.....

"กูบอกมึงแล้ววววววววว"

(ยิ้มหวานนนนน......;)


วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ฝีกกเล็บ

เอ๊ะ นี่มันโรคอะไร บางคนฟังแล้วเค้าก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าชื่อโรคมันมาจากไหน ไม่รู้ว่าใครบัญญัติขึ้นมา.......

คำว่า ฝี พอเข้าใจได้ แต่ กกเล็บ คือส่วนไหน ไม่ค่อยเข้าใจ....

สุดท้ายผมก็ต้องพึ่งพาพี่เทรนเนอร์ให้ชี้เป้าให้ดู แล้วก็ถึงบางอ้อ มันก็คือไรกีบที่อยู่บริเวณส้นนั่นเอง

ลักษณะอาการคือ ม้าจะเจ็บที่กีบ เดินก็เจ็บแล้ว สักพักไรกีบตรงส้นจะบวม ม้าก็จะยิ่งเจ็บ แล้วก็ยิ่งบวม ยิ่งเจ็บ ยิ่งบวม แล้วก็...พรุ่ดดด แตกออกมา ม้าก็จะอาการดีขึ้น เดินแล้วเจ็บน้อยลง แต่ก็ยังมีหนองออกมาเรื่อย กว่าจะหายก็ใช้เวลาพอสมควร

แต่พอหายแล้วก็มักจะกลับมาเจ็บอีก....

แล้วก็มาลงเอยประโยคสุดฮิต....

มันเป็นแบบนี้แหละหมอ เป็นแล้วไม่ค่อยหายหรอก ผมอยู่กับม้ามานาน ผมเห็นมาหลายตัวแล้ว

คำถามคือแล้วทำไมมันถึงเป็นครับ? สาเหตุเกิดจากอะไร แล้วมันป้องกันได้มั้ย?

.

.

.

ฝีกกเล็บ มันเป็นชื่อเรียกที่เรียกกันขึ้นมาเอง กกเล็บ คือชื่อเรียกของไรกีบบริเวณส้นเท้า

แล้วทำไมมันจึงเป็นฝี??

จริงๆ แล้วฝีไม่ได้เกิดที่ตรงกกเล็บ แต่ฝีมักจะเกิดขึ้นภายในกีบ เนื่องจากม้าไปเหยียบหิน กรวด หรืออะไรที่แข็ง แล้วส่งผลให้เกิดการอักเสบภายใน เกิดเป็นฝีในกีบในที่สุด (ถ้าไม่มีอะไรทะลุเข้าไปก็จะเป็นฝีแบบที่ไม่ติดเชื้อ Non septic abscess)  แต่บางครั้งก็เกิดจากการตอกตะปูเกือก แล้วเข้าไปในส่วนที่เป็นเส้นเลือด เส้นประสาท ที่เรียกว่า White line (ถ้าเป็นกรณีนี้ฝีที่เกิดขึ้นก็จะเป็นแบบที่ติดเชื้อ Septic abscess)

ลองคิดภาพตาม เมื่อฝีเกิดขึ้นในกีบ เป็นหนองอยู่ภายใน แล้วไม่มีทางระบายออก มันจะไปที่ไหน....

เป็นเรา ถ้ามีทางออกสองทาง ทางนึงต้องวิ่งไปกระแทกประตูไม้ อีกทางนึงวิ่งไปกระแทกประตูที่เอาผ้ามาขึงกั้นไว้.......... (หวังว่าคงจะไม่มีคนซาดิสม์ วิ่งกระแทกประตูไม้)

ใช่ครับ มันมักจะออกทางที่นุ่มกว่า ออกได้ง่ายกว่า ซึ่งก็คือไรกีบนั่นเอง

เมื่อฝีแตกออกที่บริเวณไรกีบหรือกกเล็บ ม้าก็จะอาการดีขึ้น เพราะว่าสิ่งที่อัดอั้นอยู่ภายในได้ออกไปแล้ว.......อ่าาาาส์ ปลดปล่อย (ฝีนะครับ ขอย้ำ)

แต่การที่หนองระบายออกมาที่ไรกีบ นั้นไม่ดีแน่ เพราะไหนจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไหนจะต้องมารักษาแผล ไหนจะทำให้เนื้อเยื่อภายในตาย การสร้างกีบก็ทำได้ไม่ต่อเนื่อง ความแข็งแรงของกีบก็ลดลงอีก มีแต่เสียกับเสีย

เมื่อม้าเดินไม่ดี เริ่มมีอาการเจ็บ สิ่งที่ควรทำจึงเป็นการหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่การฉีดยาแก้ปวด ผมย้ำเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง เพราะยาแก้ปวดไม่ใช่การรักษาเสมอไป การรักษาที่ถูกต้องคือการวินิจฉัยให้ได้

หากเราตรวจพบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นฝีในกีบได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะลดความรุนแรงก็จะมีมากเท่านั้นครับ เราสามารถปาดกีบเพื่อเปิดให้หนองระบายออกทางด้านพื้นกีบได้ และสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่าครับ

ลองเลือกดูเอาเองครับว่าอะไรดีกว่ากัน

.

.

.

ผมว่ามันเลือกไม่ยากนะ

ม้าเสียวแข้ง ความผิดใคร??


หลังจากได้คุยกับหลายๆ คน ทั้งคนเลี้ยงม้า ทั้งเทรนเนอร์ ทั้งเจ้าของม้า ลองสอบถามเรื่องม้าเสียวแข้ง ว่ามันเป็นอะไรครับ มันเป็นได้ไง แล้วทำอย่างไร

พบว่าได้คำตอบคล้ายๆ กันคือ ปกตินะหมอ ม้าเนี่ยเอาม้าซ้อม ก็ต้องมีเสียวแข้งบ้าง เดี๋ยวเกลื่อนยาก็หาย หรือบางคนก็จะบ่นว่า มันเป็นๆ หายๆ ไม่หายขาดสักที

ประเด็นคือ ม้าผิด หรืออออ?

ผมว่าเราหลงประเด็น พูดกันราวกับว่าเป็นความผิดม้าที่มันเจ็บ........ แต่เราลืมมองอะไรกันไปหรือเปล่า

ทำไมม้าเกือบทุกตัว ถึงมีอาการเสียวแข้ง?

แล้วเมื่อพบปัญหาคล้ายๆ กัน ไม่มีใครเอะใจเลยเหรอว่ามันดูแปลกๆ?

หากลองพิจารณาดีๆ ก็จะพบคำตอบอยู่ในสิ่งที่ผมได้รับคำอธิบายมา ก็คือมันก็มีเสียวแข้งบ้างเป็นปกตินะหมอ..

เป็นปกตินะหมอ

เป็นปกตินะหมอ

เป็นปกติ...

นั่นไง!! คำตอบ

ใช่ครับ เรื่องนีเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนปัญหาสิวๆ นั่นแหละ หากเราพยายามทำความเข้าใจมันสักนิด เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องธรรมชาติเช่นกัน

ในระหว่างที่ม้าโต กระดูกหน้าแข้งจะโตและเปลี่ยนรูปร่างไปอย่างมาก จากที่เคยเป็นกระดูกกลมๆ ก็จะค่อยๆ แบนลง ด้านหน้าจะเจริญเร็วมาก กระดูกเจริญได้เร็ว แต่เยื่อหุ้มกระดูกมันเจริญตามไม่ทัน...

นี่แหละครับจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้......

เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่ม้าจะเจ็บ เพราะเยื่อหุ้มกระดูกเป็นส่วนที่มีเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมาก ลองนึกถึงตอนที่เราเดินเตะโต๊ะ เอาหน้าแข้งไปกระแทกแรงๆ สิครับ.... เจ็บมั้ย?

ม้าในธรรมชาติเมื่อเจ็บ ก็จะสามารถพักไปเองได้ เพราะเวลาวิ่งแรงๆ หรือรับแรงกระแทกต่างๆ ก็จะเจ็บ พอเจ็บก็จะเรียนรู้ว่าต้องค่อยๆ นะ ค่อยๆ เดิน ค่อยเป็นค่อยไป

แต่............

ม้าที่มนุษย์เอามาเลี้ยงมันเลือกไม่ได้ ตื่นเช้ามาก็ใส่ขลุม ใส่สายจูง พาออกไปเดิน พาออกไปตีวง พาไปวิ่ง ไปซ้อม เสร็จแล้วก็อาบน้ำ ให้อาหาร เอาเข้าคอก ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมของคน......

เจ็บก็เจ็บ จะพักก็ไม่ได้พัก

พอจะได้พัก ก็โดนเอายาอะไรก็ไม่รู้มาทาตรงที่เจ็บ แล้วก็ยิ่งเจ็บมากขึ้น ยิ่งอักเสบมากขึ้น บางคนก็เอาเหล็กร้อนๆ มาจี้ตรงหน้าแข้ง เป็นแผล เป็นรูเต็มไปหมด บางทีก็ติดเชื้อขาบวมเป่งกันเลยทีเดียว......

พอเจ็บ แล้วก็โดนทำให้เจ็บมากขึ้น พอเจ็บมากๆๆๆๆๆ ถึงจะได้พัก....... ทำเพื่ออะไร?

ไม่เป็นแผล ก็ทำให้เป็นแผล แล้วก็ค่อยๆ รักษาแผลให้หาย... จะง่ายกว่าหรือไม่ ถ้าพักม้าเฉยๆ โดยที่ไม่ต้องทำแผล

พาเดินบ้าง ปล่อยแปลงบ้าง พอครบกำหนด 3 สัปดาห์หลังจากเจ็บ ก็ค่อยเอามาเริ่มซ้อมกันใหม่... ธรรมชาติจะรักษาตัวมันเองครับ

เห็นมั้ยว่าถ้าพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติม้าสักนิด ชีวิตก็ง่ายกว่ากันเยอะ ทั้งคน ทั้งม้า ;)

.

.

.

สรุปแล้ว ม้าเสียวแข้ง ความผิดใคร?

คนดูแลม้าก็ไม่ผิด เพราะอาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วม้าเป็นอะไรกันแน่ เจอม้าอาการแบบนี้ก็รักษาให้ยากันไปแบบหนึ่ง ทำตามกันมา ด้วยความไม่เข้าใจที่แท้จริง

ม้าก็ไม่ผิด เพราะม้าก็เสียวแข้งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แค่ไม่ได้บอกให้คนเลี้ยงรู้.... เท่านั้นเอง (ไม่รู้จะอธิบายยังไง)


*ม้าเสียวแข้ง หายได้เอง หากได้พักเป็นเวลา 3 สัปดาห์

**ยกเว้นในกรณีที่เป็นมากกว่าแค่เยื่อหุ้มกระดูกอักเสบหรือฉีกขาด แต่เป็นการร้าวหรือแตกของกระดูก จะต้องใช้เวลาพักที่นานกว่า

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ม้าเป็นสิ่งมีชีวิต

คนเราสามารถหลีกเลี่ยงอะไรได้หลายอย่างในชีวิต เลี่ยงเพื่อไม่ให้พบเจอความลำบากทั้งกายและใจ หรืออาจจะเลี่ยงๆไปก่อน แล้วค่อยผลัดไปวันหน้า วันที่สภาพร่างกายและจิตใจพร้อม

แต่คงมีสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้ ไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงยังไง สุดท้ายมันก็จะวนกลับมา..........

สิ่งนั้นมีชื่อว่า "ความจริง"

ถึงจุดนี้คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ในวงการม้าแข่ง ถ้าไม่ถึงที่สุด ก็คงไม่เรียกหมอเข้าไปดู บางที่เรียกเข้าไปผมก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว

ถ้าเปรียบม้าเป็นผ้าผืนนึง เมื่อมันเปื้อนเทรนเนอร์ก็พยายามที่จะซัก เพื่อให้มันกลับไปขาวดังเดิม แต่หลายต่อหลายครั้งก็พบว่า การพยายามซักผ้านั้นด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ไม่รู้วิธีซักที่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ทำให้รอยเปื้อนเก่าไม่ออกไป รอยเปื้อนใหม่ก็เพิ่มขึ้น อาจแถมซ้ำด้วยรอยฉีกขาด...........

พยายามรักษา อาจจะเป็นเจตนาดี ถ้าไม่เป็นอะไรก็ดีไป แต่ถ้าผลออกมาในทางตรงกันข้ามล่ะ.....

การรักษาไม่ใช่แค่การทายา การฉีดยา หรือการให้น้ำเกลือ
คุณสามารถหาซื้อยาที่ไหนก็ได้ถ้าคุณมีเงินจ่าย และคนขายต้องการเงินนั้นโดยไม่นึกถึงผลเสียที่ตามมา

ร้านขายยาหลายที่ขายยาให้กับเทรนเนอร์ หรือเจ้าของม้า ซื้อง่ายขายคล่อง คนซื้อเดินเข้ามาถามหาสิ่งที่ต้องการ คนขายก็ขายไป อย่างกับขายขนม.....

นี่คือความจริงที่เกิดขึึ้นทุกวัน........Ugly truth..........


ทว่าผลเสียที่ตามมา ใครจะรับผิดชอบ.........

รับผิดชอบ ถ้าแปลไทยเป็นไทยก็คือ เมื่อได้ทำอะไรลงไปแล้ว ถ้าเกิดความผิดพลาดเสียหาย ก็ต้องรับผลของความผิดนั้นๆ และเมื่อทำอะไรลงไปแล้วเกิดผลดี เป็นประโยชน์ ก็ต้องรับความดีความชอบไป

แต่........

ความชอบข้าน้อยขอรับไว้ ส่วนความผิดนั้นไซร้ ม้าก็รับไปเต็มๆ

หัวใจของการรักษาคืออะไร?..................................... การให้ยา? การฉีดยา? การทายา? การผ่าตัด?

..................

หัวใจของการรักษาคือ "การวินิจฉัย"

การรักษาต้องใช้ประสบการณ์..... อยู่กับม้ามาทั้งชีวิตย่อมเห็นอะไรมามากกว่า แต่การเห็นมากกว่าไม่ได้เป็นข้อยืนยันว่าคุณสามารถรักษาได้

การรักษาต้องใช้ความรู้..... ความรู้จริงๆ ที่ไม่ใช่ ความเชื่อ เชื่อว่าตนเองนั้นรู้ไม่ได้หมายความว่ารู้จริงๆ อย่าเข้าใจผิด


การวินิจฉัย เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของ เหมือนกระดุมเม็ดแรกที่ติด ถ้าคุณติดผิด เม็ดต่อๆ ไปมันก็ผิดเหมือนกัน แต่กระดุมนั้น ติดผิดติดใหม่ได้...... แต่ชีวิตถ้าเสียไปแล้วมันเอากลับคืนมาไม่ได้......

การให้ยา ไม่ใช่ว่าสัตว์มีอาการอะไรก็ให้ไปตามนั้น ฉีดยาไม่ได้แปลว่าเสร็จสิ้นกระบวนการการรักษา

มีมั้ยครับ คนที่อ้วน แล้วกินยาลดความอ้วนแล้วหายอย่างถาวร......... ระหว่างกินยาอาจจะผอมลง แต่ถ้ายังมีพฤติกรรมการกินเหมือนเดิม ใช้ชีวิตแบบเดิม สุดท้ายก็กลับมาอ้วนอีกแน่นอน

โรคที่เกิดขึ้นหลายโรค มักจะเกิดซ้ำ บางตัวเป็นๆ หายๆ บางตัวเป็นแล้วไม่หาย หายอีกทีก็หายจากโลกนี้ไป พอตัวใหม่มาก็เป็นโรคคล้ายๆ เดิม คอกไหนเป็นอย่างไร ก็มักจะเป็นแบบนั้นอยู่เรื่อยๆ

เคยคิดมั้ยว่าเพราะอะไร?? (เอากระจกหน่อยมั้ย?)

ถ้าคุณรู้ว่าผ้ามันจะเปื้อน คุณจะทำอย่างไร?? รอให้มันเปื้อน แล้วค่อยซัก? ซักไม่ออกก็ฉีกมันทิ้ง หาผื่นใหม่มาใช้ เพื่อให้มันเปื้อนอีก?

หรือหาวิธีไม่ให้ผ้ามันเปื้อน? ง่ายกว่ากันมั้ยครับ?

มีหลายคนที่พยายามบอกวิธี เพื่อลดโอกาสไม่ให้ผ้าเปื้อนกับคุณอยู่ ลองดูความจริงสิครับ
.
.
.
.
.
.

หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว ม้าเป็นสิ่งมีชีวิตนะครับ ไม่ใช่ผ้า

โปรดอย่าลืม

ไข้ลงกีบ ทางเลือกที่คุณเลือกได้

ไข้ลงกีบ ทางเลือกที่คุณเลือกได้

"ไม่ไหวแล้วหมอ ไข้มันลงกีบ ทำอะไรไม่ได้แล้วล่ะ ผมเห็นมาหลายตัวแล้ว รอวันตายอย่างเดียว"

หลายต่อหลายครั้งที่ได้ยินคำพูดในลักษณะนี้ เป็นคำพูดในลักษณะที่ถอดใจ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น โดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อเผชิญหน้ากับโรคนี้..... โรคไข้ลงกีบ

ไข้ลงกีบคืออะไร?

"ก็พอม้ามันเป็นไข้ พอเป็นหลายๆวัน ไข้ไม่ลด มันก็จะเริ่มลงมาที่กีบไงหมอ"

....

หลายต่อหลายคนเชื่อเช่นนั้นครับ
จะว่าไปชื่อภาษาไทย ไข้ลงกีบ มันก็ไม่ถูกต้องนัก และสร้างความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะโรคนี้ไม่ใช่ว่าม้าเป็นไข้แล้วมันจะวิ่งลงไปที่กีบ

ไข้นะไม่ใช่แมลงสาบ.......


ไข้ลงกีบ ในภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกว่า Laminitis (ลามิไนตีส) ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษ ดูจะอธิบายได้ดีกว่า ตรงตัวตรงประเด็นที่สุด เพราะความจริงโรคนี้เป็นการอักเสบ (-itis) ของลามินา (Lamina)

Lamina (ลามินา) คือส่วนที่เชื่อมผนังกีบด้านใน และกระดูกภายในกีบ (Coffin bone) หากเกิดการอักเสบ สิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นการแยกออกจากกันระหว่างผนังกีบ และกระดูกที่อยู่ด้านใน

ลองนึกภาพตอนที่เราตัดเล็บแล้วเข้าเนื้อ หรือใครเคยบาดเจ็บแล้วเล็บถอดนะครับ มันเจ็บปวดระดับนั้น เพราะกีบม้าและเล็บของเราเป็นโครงสร้างเดียวกัน มีเส้นเลือด เส้นประสาทจำนวนมากบริเวณปลายเล็บ
 คนเราสามารถเลี่ยงไม่ให้เกิดน้ำหนักกดทับลงบนเล็บให้เจ็บเพิ่มได้ แต่ม้าไม่มีทางเลือกครับเพราะม้ายืนอยู่บนกีบ ต้องรับน้ำหนักร่างกายที่กดลงมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยง

ความเจ็บปวดเป็นเช่นไรนั้น ผมไม่ทราบ แต่น่าจะเจ็บมากแน่ๆ (เจ็บเหมือนคลอดลูกหรือไม่ก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยเช่นกัน)

แล้วการอักเสบนี้มาจากไหน? เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมอยู่ดีๆ ถึงเป็น

คำตอบที่ผมมักจะตอบเสมอ คือ "มันไม่ได้อยู่ดีๆ แล้วเป็นครับ มันอยู่ไม่ดีต่างหากมันถึงได้เป็น........ "

ครับ หมอกวนตีนครับ 555

แต่ผมไม่ได้ยียวนกวนประสาท มันคือความจริงครับ ความจริงที่ต้องรับมันให้ได้ว่าปัญหาเกิดจากสิ่งที่ตนเองทำ ไม่ใช่ความผิดม้า

มันเกิดจากการจัดการ ปัญหานี้เกิดจากการให้อาหารที่ไม่เหมาะสมครับ ยกตัวอย่างเช่น ให้อาหารเม็ดปริมาณมากเกินไปต่อมื้อ( >1.5 kg ต่อม้าน้ำหนัก 400-450 kg) และให้แค่ 2 มื้อ เช้า-เย็น การให้อาหารเช่นนี้จะทำให้ม้ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมากขึ้น

พอถึงบรรทัดนี้ หลายๆ คน ก็คงจะทำหน้าเป็นเครื่องหมายคำถามใส่หมอ หรือบางคนก็จุดฟูลสต๊อปเต็มหน้า............โรคนี้อาจทำความเข้าใจยาก แต่ก็เข้าใจได้ครับ ถ้าลองฟัง

เมื่อเราให้อาหารที่ไม่เหมาะสมจะทำให้สมดุลย์ในลำไส้สูญเสียไป แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้จะตายเพราะไม่สามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมที่เป็นกรดภายในลำไส้ได้ สิ่งที่ออกมาจากผนังเซลล์ของแบคทีเรียพวกนี้คือสารพิษ ที่เรียกว่า Endotoxin (เอ็นโดท๊อกซิน) สุดท้ายจะเข้าสู่กระแสเลือดเกิดภาวะเลือดเป็นพิษ (Endotoxemia) และไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งเอนไซม์ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Methallo protein ซึ่งจะไปย่อยผนังของลามินา รวมถึงเมื่อเลือดเป็นพิษ ความสามารถในการขนส่งออกซิเจนก็จะทำได้ลดลง ทำให้เซลล์ของลามินาตายเพิ่มมากขึ้น เกิดการอักเสบของลามินาในที่สุด

และนั่นทฤษฎีหนึ่งที่พยายามอธิบายที่มาของโรคนี้...... ไข้ลงกีบ....... 

เมื่อไข้ลงกีบเกิดขึ้น สิ่งที่คนมักฉีดให้กับม้าก็คือ ยาลดการอักเสบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Phenylbutazole หรือ Prednisolone หรือไม่ก็ให้น้ำเกลือ

อย่างแรก Phenylbutazole หรือที่เรียกกันว่า บิ๊ว (Butasyl) ลดการอักเสบได้ แต่ถ้าให้มาก และติดต่อกันเป็นเวลานาน สิ่งที่ตามมาคือ แผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้ม้าตายได้ในเวลาอันสั้น (ที่ให้กัน 15-20 CC นั่นก็ถือว่าเป็นสองถึงสามเท่าของโดสปกติแล้วครับ)

ลำดับที่สอง Prednisolone ยานี้ตัวเป็นสเตอรอยด์ครับ ส่งผลให้เส้นเลือดปลายระยางค์หดตัว.......
 สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นเลือดปลายระยางค์หดตัวก็คือ เลือดที่ไปเลี้ยงลามินาก็ลดลงอีก ยิ่งทำให้อักเสบมากขึ้น

ไม่ช่วยแล้วยังซ้ำเติม.........

ในกรณีที่ม้าแสดงอาการไข้ลงกีบแล้ว หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการนี้ สิ่งที่ช่วยได้มากที่สุด และให้ผลดีที่สุดไม่ใช่การฉีดยาครับ เป็นวิธีง่ายๆ ที่ฟังแล้วอาจจะหนาวววววววววววววววววววว เพราะว่าต้องใช้ "น้ำแข็ง"

ไม่ขำสินะ.........
 ครับ ใช้น้ำแข็งประคบตั้งแต่ไรกีบขึ้นไปจนถึงข้อเข่า อาจใช้กระสอบมาตัดให้ก้นทะลุ หรือใช้ขากางเกงเก่าก็ได้ สวมเข้ากับขาม้าแล้วมัดด้านล่าง เปิดช่องด้านบนไว้ แล้วใส่น้ำแข็งลงไป พอหมดก็เดิม โดยจากผลการวิจัยและเก็บข้อมูลของหมอหลายๆ ท่าน พบว่าการทำแบบนี้ ติดต่อกันเป็นเวลา 48 ชั่วโมง จะลดโอกาสในการเกิดโรคได้ดีที่สุด (ผมได้ข้อมูลยืนยันล่าสุดจากการไปสัมมนาที่ Hongkong Jockey club ในหัวข้อ Equine medicine course เมื่อปลายปี 2013)

และการใช้น้ำแข็งนี้จะได้ผลดีที่สุด หากเราทำตั้งแต่ม้ายังไม่แสดงอาการ แต่เกิดโรคที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้ม้ามีภาวะเลือดเป็นพิษ (Endotoxemia) เช่น ท้องเสีย 

ถ้ามีแนวโน้ม ก็อย่ามัวลังเล รีบทำครับ ค่าน้ำแข็ง ค่าขากางเกง ความเหนื่อยที่ต้องทำ ผมว่ามันคุ้มถ้าจะแลกกับการที่ม้าตัวนึงไม่ต้องเป็นโรคนี้ หรือถ้าคิดว่าไม่จำเป็นก็รอให้เป็นก่อนก็ได้ครับ แล้วค่อยมานั่งเสียใจทีหลัง

แต่ก็อย่าลืมว่าทั้งหมดทั้งมวลมันเกิดจากการจัดการของเราทั้งสิ้น

การรักษาโรคนี้ให้หายสามารถทำได้ครับ ซึ่งใช้เวลานาน และใช้ค่าใช้จ่ายสูง  แต่ถ้าดูแลอย่างดีก็หายเป็นปกติได้ครับ (เล็บม้าใช้เวลาในการเจริญจากบริเวณไรกีบลงไปถึงพื้น ใช้เวลา 8 เดือน) สิ่งที่ต้องทำคือ ปรับเรื่องการให้อาหาร ประเมินอาการด้วยการเอ๊กซเรย์ วางแผนการตัดแต่งกีบ รองกีบด้วยยางและซิลิโคน ดูแลเรื่องความสะอาด และอื่นๆ อีกมากมาย

การรักษานั้นมีหลายขั้นตอน และใช้เวลานาน มันไม่ง่ายครับ

มีบ้างบางกรณีที่เกิดการอักเสบของลามินาเนื่องจากการถ่ายน้ำหนักจากขาอีกข้างที่เจ็บ จนทำให้ข้างที่เหลือต้องรับน้ำหนักสองเท่า จนเกิดการอักเสบครับ แต่เท่าที่พบมาไม่บ่อยนัก และถึงจะพบจากสาเหตุนี้ ก็มักมีสาเหตุเรื่องการให้อาหารร่วมอยู่ด้วยเสมอๆ
........
........

มาถึงบรรทัดนี้ เรื่องเกี่ยวกับไข้ลงกีบยังไม่หมด ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก แต่มันจะลงลึกไปเรื่อยๆ และอาจจะน่าเบื่อเกินไป

หลายคนอาจถอดใจเมื่อเจอกับโรคนี้เข้าไป แต่ลองคิดทบทวนให้ดีๆ ครับ คุณยังมีทางเลือก

1. ในเมื่อการรักษามันยากนัก ทำไมเราจึงไม่เลือกที่จะป้องกัน ทั้งๆ ที่การป้องกันก็เปลี่ยนได้ง่ายๆ ที่ตัวเรา ขยันขึ้นอีกนิด ทำความเข้าใจกับคนเลี้ยงให้ตรงกัน เพราะผมว่าคงไม่มีใครอยากให้ม้าเป็นไข้ลงกีบแน่ๆ

2. หาม้าตัวใหม่สิครับ ตัวเก่าก็ทิ้งไป ตายๆ ไปซะ คนดูแลจะได้สบาย

.
.
.
.
.

แน่นอน ข้อที่ 2 น่ะ มีคนเคยพูดกับผมเช่นนั้น และผมแค่ประชด


ตนเองสร้างปัญหา แต่ไม่รู้ว่าปัญหานั้นเกิดเพราะตนเอง โทษแต่อย่างอื่น ลองดูนี่ก่อนสิครับ....... (ยื่นกระจกให้)

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ยิ่งรู้ยิ่งไม่เข้าใจ


สุดท้าย....... ยิ่งฉันเรียนรู้มันมากแค่ไหน ยิ่งรู้ยิ่งไม่เข้าใจสักอย่างจริงๆ ฮู้ ฮู้วววววววววววววววววววว

ในวงการม้า ผู้ที่มีอิทธิพลและมีอำนาจในการควบคุมชะตาชีวิตของม้าแต่ละตัวนั้น หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเจ้าของม้า ผู้เป็นเจ้าของชีวิตของม้าแต่ละตัว เป็นผู้ที่ออกเงินเพื่อจะให้ได้ม้าตัวนั้นๆ มาครอบครอง

ผมเกริ่นนำแบบนี้ แน่นอนครับว่าไม่ใช่เจ้าของม้าแน่นอน แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีชื่อว่า “เทรนเนอร์”

เทรนเนอร์: (น.) ผู้ฝึกหัดนักกีฬา, ผู้ฝึกหัดม้า ……..
เทรนเนอร์ก็เป็นคนที่ฝึกหัดม้าเพื่อให้ม้ามีพละกำลัง เหมาะสมที่จะไปเป็นม้าแข่งที่ดี เป็นผู้ชนะในสนามอันทรงคุณค่า(ทางธุรกิจ)

ก็เป็นเช่นนั้นแหละครับ แต่เทรนเนอร์หลายคนก็ไม่ธรรมดา

เทรนเนอร์จะฝึกหัดม้าให้มีพละกำลังด้วยการกำหนดตารางฝึกซ้อม การตีวง การออกกำลังกาย การพาไปว่ายน้ำ การนำม้าไปปล่อยเพื่อให้คุ้นชินกับการเข้าซองสตาร์ท เป็นการเตรียมความพร้อมทุกอย่างเพื่อการแข่งขัน

สูตรใครก็สูตรมัน แต่ละคนก็มีเคล็ดลับแตกต่างกันไป

แต่ที่ผมแปลกใจมากถึงมากที่สุดก็คือ เทรนเนอร์ "บางคน" (เน้นว่าบางคน ผมไม่ได้เหมารวมนะครับ) สามารถฝึกซ้อมม้าด้วยเข็มฉีดยาได้ด้วย ม้าเจ็บป่วยอะไรก็ให้ยาได้ด้วยตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งหมอกันเลย บางคนอยู่กับม้ามาตั้งแต่เด็ก รู้หมดแล้วว่าถ้าม้ามีอาการแบบนั้นแบบนี้ควรให้อะไร หมอยังรู้ไม่เท่าเลย.......... ขาดเขลาเสียจริง

ที่ผมได้เจอมามันเป็นอะไรที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยครับ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันหนึ่งหมอผู้ขาดเขลาเดินเข้าไปในคอกม้าที่ได้นัดแนะกันไว้ว่าจะเข้าไปตรวจรักษาม้าตัวหนึ่งให้ เห็นเทรนเนอร์คนเก่งกำลังให้น้ำเกลือม้าทางเส้นเลือด สิ่งที่แขวนอยู่ติดฉลากว่าเป็นน้ำเกลือชนิด N-S-S แต่ไม่ธรรมดาแน่ๆ เพราะสีของน้ำเกลือที่อยู่ภายในมันไม่ใช่สีปกติ.......... สีสวยเชียว

หมอผู้ขาดเขลา: พี่ๆ นี่พี่ให้ยาอะไรเหรอครับ.......
เทรนเนอร์คนเก่ง: อ๋อ ให้น้ำเกลือกับยามันหน่อยน่ะครับ มันทรุดๆ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่
หมอผู้ขาดเขลา: มันเป็นอะไรเหรอครับ (ทำหน้าแบ๊วๆ)
เทรนเนอร์คนเก่ง: ลำไส้มันไม่ค่อยดีน่ะหมอ ก็เลยให้ยาช่วยเรื่องลำไส้มันหน่อย
หมอผู้ขาดเขลา: ให้อะไรครับเนี่ย (ทำหน้าเป็นห่วง)
เทรนเนอร์คนเก่ง: อ๋อ ก็ให้ Pendistrep น่ะครับ
หมอผู้ขาดเขลา: .................. (แอ๊บไม่เนียน เผลอเงียบอึ้งไปสองวิ) ตอนแรกอาการเป็นอะไรนะครับ
เทรนเนอร์คนเก่ง: พี่อีกคนเค้ามาดูเค้าบอกว่ากล้ามเนื้อมันไม่ค่อยดีครับ เลยบอกให้ให้ยาน่ะครับ ช่วยเรื่องลำไส้มันหน่อย
หมอผู้ขาดเขลา: .................. อ๋อออออออออออ ครับ ให้มากี่วันแล้วเนี่ย (หมอผู้ขาดเขลา กำลังคิดในใจ และเริ่มขมวดคิ้ว โดยที่ไม่รู้ตัว................... อืม กล้ามเนื้อไม่ดี เลยให้ยาช่วยเรื่องลำไส้นี่เอง)
เทรนเนอร์คนเก่ง: ก็นี่ให้มาวันที่สามแล้วครับหมอ วันละครั้ง อาการมันก็ดีขึ้นนะ ตอนแรกหายใจหอบด้วย นี่ดีขึ้นละ
หมอผู้ขาดเขลา: ตอนแรกมันเป็นอะไรเหรอครับ (แอ๊บทำหน้าอยากรู้ต่อไป)
เทรนเนอร์คนเก่ง: ตอนแรกหลังมันเจ็บน่ะหมอ นี่พี่ชายผมฉีดยาแล้วก็ดีขึ้นละ แต่มันก็ยังหอบอยู่ เลยให้ยาช่วยเรื่องลำไส้มันหน่อย
หมอผู้ขาดเขลา: ................................................... เจ็บหลังก็เลยฉีดยาที่หลังเหรอครับ พอหลังไม่เจ็บแล้ว แต่ก็เห็นว่าม้ายังหอบอยู่ เลยให้ยาช่วยเรื่องลำไส้มันหน่อยเหรอครับ (เก็บอาการไม่อยู่ ปากยิ้ม แต่คิ้วขมวด)
เทรนเนอร์คนเก่ง: ครับหมอ เดี๋ยวหมอเตรียมของเลยก็ได้ครับ เดี๋ยวผมให้ยาตัวนี้เสร็จแล้วจะไปจับตัวนั้นให้หมอตรวจครับ
หมอผู้ขาดเขลา: ................. (หันหลังกลับและเดินกลับไปที่รถ แล้วก็หยิบของเพื่อเตรียมลงไปตรวจม้าตามปกติ)

ระหว่างนั้นก็ได้แต่คิดทบทวนถึงสิ่งที่เพิ่งรับรู้มา

สูตรการให้ยาแบบนี้ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย มันช่างแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด เหมือนเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด

ม้าเจ็บกล้ามเนื้อเลยฉีดยาไป แต่ยังไม่หาย และม้าหอบอยู่ ก็เลยให้ยาเพื่อช่วยเรื่องลำไส้............. มันใช่เหรอวะ


สวดยวดเลยลวกเพี่ยยยยยยยยยยยยยยยยยยยย

 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อีกวันหนึ่ง(ก่อนหน้าวันหนึ่งครั้งที่แล้ว) ผมเข้าไปตรวจม้า และรายงานผลว่าม้าตัวนี้ควรปลด ไม่ควรนำมาเป็นม้าแข่งอีก เนื่องจากกระดูกเข่าแตกเป็นชิ้นเล็กๆ (Chip fractures) หลายชิ้น และมีแคลเซียมมาพอก เข่าข้างนึงบวมกว่าอีกข้างนึงที่ปกติเกือบสองเท่า (แค่เดินก็เจ็บแล้ว)

ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็นหมอ: เป็นไงบ้างหมอ รักษาไม่ได้ใช่มั้ย ผมก็ว่าแล้วล่ะว่ามันต้องกระดูกแตกซ้ำแน่เลย ผมก็บอกเจ้าของแล้วว่าไม่ต้องให้หมอเข้ามาหรอก ถึงตรวจรู้ว่าเป็นอะไรหมอก็รักษาไม่ได้แล้ว เดี๋ยวผมรักษาเอง

หมอผู้ขาดเขลา: ................................ (มองหน้านิ่งๆ พยายามยิ้ม แต่คิ้วขมวดอีกแล้ว)

ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็นหมอ: เนี่ย ก่อนหน้านั้นหมอ A (นามสมมติ) ก็เข้ามาเอ็กซเรย์แล้วก็บอกว่ากระดูกเข่าแตก ให้ไปผ่าตัด ผมก็ไม่ได้ผ่านะ เค้าบอกว่าแตกไม่เยอะ ผมมียาดีไงใช้ทาเข่าเอา ทาสักสองสามวัน น้ำเหลืองมันก็ไหลออกมานะ เลือดเสียก็ไหลออกมาจากเข่าหมดละ เศษตอนนั้นก็ออกมาด้วย ผมก็เลยเอากลับไปแข่งอีก

หมอผู้ขาดเขลา: .............................. เกลื่อนจนถึงข้างใน จนกระดูกออกมาเลยเหรอครับ?

ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็นหมอ: ใช่ พอไปให้หมอ B (นามสมมติ) มาเอ็กซเรย์อีกที เค้าก็บอกว่าไม่เห็นเศษกระดูกแล้วนะ (พ่นควันบุหรี่ผ่านหน้าผมไป พร้อมทำหน้ามั่นใจ)

หมอผู้ขาดเขลา: หมอที่ไหนเหรอครับมาเอ็กซเรย์ให้ (ผมถามไปงั้นแหละ เพราะคนเลี้ยงบอกแล้วว่าใครมาดูให้ และเป็นพี่หมอคนที่ผมรู้จัก และได้โทรไปถามแล้ว พบว่าตอนนั้นยังมีเศษกระดูกแตกหลายจุด และมีแคลเซียมมาพอกเต็มไปหมด)

ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็นหมอ: เค้าบอกว่ามีแคลเซียมมาพอกปิดหมดแล้ว
หมอผู้ขาดเขลา: ผมโทรคุยกับพี่เค้าแล้วครับ พี่เค้าบอกผมแล้วว่าตอนนั้นยังมีแตกอยู่หลายจุดด้วย และมีแคลเซียมมาพอกเยอะเลย

ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็นหมอ: เฮ้ย ไม่ใช่นะหมอ ตอนนั้นเค้าบอกว่ามีแคลเซียมมาพอกปิดหมดแล้ว

หมอผู้ขาดเขลา: ไม่ใช่ครับ ตอนนั้นก็เศษกระดูกก็ยังอยู่ และมีแคลเซียมมาพอก เพราะว่ามันอักเสบมากครับ พี่หมอคนนั้นยืนยันกับผมเอง

ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็นหมอ: แต่มันก็ไปวิ่งได้นะหมอ ซ้อมก็ไม่เป็นอะไร แต่พอวิ่งมาแล้วก็เจ็บเนี่ย

หมอผู้ขาดเขลา: วิ่งได้ไม่ได้แปลว่าไม่เจ็บครับ ไม่ได้แปลว่ากระดูกไม่แตกแล้ว

ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็นหมอ: แต่มันไม่เจ็บนะหมอ ยาผมทาไปมันก็ไม่ได้กัดอะไรมาก หนังมันก็ค่อยๆ ลอกออก ไม่เจ็บ

หมอผู้ขาดเขลา: มันบอกหรือเปล่าครับว่ามันไม่เจ็บ ถ้ายังไงพี่ลองเอายามาทาเข่าพี่นะว่ามันเจ็บหรือไม่เจ็บ


ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็นหมอและมียาดี ไม่ได้โกรธเคืองอะไรผม คุยกันไปเรื่อยๆ หัวเราะใส่กันด้วยซ้ำครับ คุยกันอยู่นาน............................ แล้วสุดท้ายประโยคเด็ดก่อนลาก็ออกมา

ผู้สถาปนาตนเองว่าเป็นหมอ: ที่หมอมันเรียนมามันเป็นเหมือนด้านสว่างไง ของผมมันก็เหมือนด้านมืด แต่ของผมมันก็รักษาหายได้เหมือนกัน หมอไม่รู้หรอกว่าผมทำอะไรได้ ยาผมรักษาม้ามาเป็นร้อยตัวแล้ว ส่วนใหญ่หายทั้งนั้น ตัวที่ไม่หายก็คือมันเป็นหนักจริงๆ เท่านั้นแหละ

หมอผู้ขาดเขลา: (หัวเราะด้วยหน้าตาบิดเบี้ยว) 5555 โอเคครับพี่ ถ้ายังไงวันหลังพี่จะรักษาเนี่ย โทรบอกผมนิดนึง ผมอยากเห็นกับตาจริงๆ ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามันรักษาแบบที่พี่บอกได้ด้วย วันนี้ผมกลับก่อนนะครับ

...........


แน่นอนผมไม่ได้เข้าคอกนั้นอีก ไม่มีการโทรตามผม และผมก็ไม่ได้โทรถามไถ่อะไรอีก

กระดูกแตก ไม่มีวิธีไหนที่จะทำให้หายและเอาเศษกระดูกที่แตกออกมาจากข้อเข่าได้ นอกจากการผ่าตัดครับ ขนาดผ่าตัดกว่าจะเอาออกมาได้ยังยากเลย เพราะมันมีเยื่อหุ้มกระดูกที่ยึดเศษกระดูกนั้นไว้ ซึ่งแข็งแรงไม่ใช่ย่อยเลย


นี่แค่สองเรื่องนะครับ เทรนเนอร์บางคนนี่เค้ามีอะไรที่คาดเดาไม่ได้จริงๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกคนนะครับ

แค่ ”บางคน” เท่านั้นแหละครับ


แผลในกระเพาะอาหารม้า โรคที่รุนแรงกว่าที่คุณคิด


gastriculcer 01แผลในกระเพาะอาหาร โรคที่เรามองไม่เห็น และอันตรายกว่าที่คิด
ม้าที่มนุษย์เลี้ยงเป็นม้าแข่ง มีโอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้สูงถึง 50% เนื่องจากสภาพการเลี้ยง และการใช้งานที่มากกว่าธรรมชาติ จากการสำรวจของ Dr.Nanna Luthersan พบว่าม้าแข่งที่ให้อาหาร 2 มื้อเช้า-เย็น และให้หญ้าเป็นมื้อไม่ได้มีให้กินอย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน ความเสี่ยงในการเป็นแผลในกระเพาะอาหารจะเพิ่มสูงถึง 80%


เวลาที่ม้าได้กินอาหารข้น สิ่งที่หลั่งออกมาคือน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดสูง

หากม้าไม่ได้รับอาหารหยาบอย่างเพียงพอ
การหลั่งน้ำลายจะลดลงเพราะการเคี้ยวลดลง เมื่อสภาวะทางเดินอาหารเป็นกรด การเคลื่อนที่ของอาหารภายในลำไส้เล็กก็จะเร็วขึ้น ผลเสียก็คือลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่ ย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ไม่หมด และเหลือตกลงไปยังลำไส้ใหญ่ ก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เช่น ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรดสูงกว่าปกติ ลำไส้ใหญ่ที่มีอาหารตกลงไปก็จะเสียสมดุลย์ แบคทีเรียในลำไส้ก็จะตายและปล่อยสารพิษออกมาและถูกดูดซึมเข้ามาในกระแสเลือด กรดและสารพิษเหล่านี้จะทำให้เยื่อเคลือบกระเพาะอาหาร (Mucosal barrier) บางลง และเสี่ยงต่อการเป็นแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น

หากม้าได้รับหญ้าอย่างเพียงพอ
หากมีหญ้าให้ม้ากินตลอดทั้งวันอย่างเพียงพอ จะทำให้ม้าเคี้ยวหญ้าและเกิดการหลั่งน้ำลายมาช่วยลดความเป็นกรด ช่วยลดความเร็วในการเคลื่อนที่ของอาหารในลำไส้เล็กให้ช้าลง ผลดีก็คือจะทำให้ลำไส้เล็กมีเวลาในการดูดซึมสารอาหารได้เต็มที่มากขึ้น และมีคาร์โบไฮเดรตเหลือลงไปยังลำไส้ใหญ่ในปริมาณน้อย ไม่รบกวนสมดุลย์ของลำไส้ และไม่เกิดผลเสียตามมา

ปริมาณอาหารข้นที่ให้ก็มีความสำคัญ
เนื่องจากธรรมชาติของม้าเป็นสัตว์ที่กินตลอดทั้งวัน กินน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง การให้อาหารเป็นมื้อๆ ในปริมาณมาก จะทำให้ม้าไม่สามารถย่อยได้ทัน และส่งผลให้สมดุลย์ของทางเดินอาหารเสียไป เกิดผลเสียตามมามากมาย (สำหรับม้าน้ำหนัก 400 kg ไม่ควรให้อาหารข้นเกินมื้อละ 2 kg) รวมถึงการให้อาหาร 2 มื้อ เช้า-เย็น ก็จะยิ่งทำให้สมดุลย์ของทางเดินอาหารเสียไป

ความเครียด
ความเครียดที่เกิดจากสภาพการเลี้ยง การฝึกซ้อม และสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อม้าก็มีผลด้วย เพราะเมื่อม้าเครียดก็จะทำให้มีการหลั่ง Cortisol มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างเยื่อเคลือบกระเพาะอาหารมาทดแทนได้ช้าลง เพิ่มโอกาสการเป็นแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น

ม้าที่อายุมากขึ้น
การสร้างเยื่อเคลือบกระเพาะก็จะทำได้ช้าลง การรักษาความสมดุลย์ของทางเดินอาหารทำได้น้อยลง เช่นเดียวกับคนที่อายุมาก จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายขึ้น

ม้าที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารจะมีอาการเสียดท้อง
เมื่อม้าเสียดท้องคนในวงการม้าส่วนใหญ่จะนิยมฉีดยาแก้ปวดที่ชื่อว่า Finadyne ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) ยาในกลุ่มนี้คนในวงการม้าจะรู้จักข้อดีว่าเป็นยาแก้ปวด แต่ไม่ทราบถึงผลข้างเคียงที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะการให้ยากลุ่ม NSAIDs สำหรับม้าที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร จะทำให้อัตราการสร้างเยื่อเคลือบกระเพาะอาหารลดลง อาการของโรคจึงหนักขึ้นกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ยาในกลุ่ม NSAIDs จึงถือเป็นยากลุ่มที่ไม่ควรใช้อย่างเด็ดขาดในกรณีที่สงสัยว่าม้าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มสเตอรอยด์ก็ไม่ควรใช้ด้วยเช่นกัน

คำถามที่พบบ่อย
ม้าที่เราสงสัยว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อมีไข้ขึ้นจะทำอย่างไร ในเมื่อหมอแนะนำว่าไม่ควรให้ยาลดไข้แก้ปวด คำตอบคือ การลดอุณหภูมิร่างกายไม่ได้มีแค่การฉีดยาเท่านั้น ในกรณีนี้เช่นนี้แนะนำให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวม้าเพื่อลดอุณหภูมิแทนการให้ยา เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและไม่ส่งผลเสียตามมา

การวินิจฉัยยืนยัน
โรคแผลในกระเพาะอาหารสามารถวินิจฉัยยืนยันได้โดยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscope) โดยจะต้องงดอาหารม้าก่อนส่องกล้องเป็นเวลา 18 ชั่วโมง โดยให้เอาสิ่งปูรองออกจากคอกด้วย และเอาน้ำออกก่อนส่องกล้อง 6 ชั่วโมง การส่องกล้องจึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่เช่นนั้นจะมีเศษอาหารมาบดบังบริเวณที่เราต้องการดู และไม่สามารถหารอยโรคได้

การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร 
ภายหลังการซักประวัติและตรวจร่างกาย หากพบว่าม้ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค สามารถให้ยาได้ทันที (Treatment trial)  เมื่อได้รับยาแล้วม้าจะอาการดีขึ้นภายในไม่กี่วัน แต่แผลจะใช้เวลานานจนกว่าจะหาย จึงต้องให้กินยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ร่วมกับการปรับการจัดการการให้อาหารไปพร้อมๆ กันด้วย แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการส่งกล้องกระเพาะอาหารเพื่อยืนยันโรค

อาการม้าที่บ่งบอกว่าม้าอาจจะเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • กินน้ำน้อยลง แสดงอาการเจ็บปวดช่องท้อง เกร็งช่องท้องตลอดเวลา
  • ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด ให้ยาแก้ปวดแล้วไม่หายปวด และอาการอาจจะแย่ลง
  • เมื่อสอดท่อเพื่อระบายสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ม้าจะอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • การปวดเรื้อรังก็จะส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ของม้า ทำให้ม้าจะหงุดหงิดง่ายขึ้น ขี้ตกใจง่ายขึ้น
  • ม้ามีอาการเสียดเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง มักเป็นหลังจากที่นำไปออกกำลังกาย หรือฝึกซ้อม หรือกิจกรรมใดๆ ที่ได้รับความเครียดมากขึ้น (แต่ม้าบางตัวอาจจะแสดงอาการครั้งแรงที่รุนแรงเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีประวัติการเสียดล่วงหน้าก่อนก็ได้)
ม้าที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารจะเจ็บมาก
ส่งผลให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลงทำให้อาหารคงค้างนานขึ้น หากเป็นมากจะส่งผลให้ลำไส้เล็กบีบตัวลดลงด้วย ด้วยเหตุนี้กระเพาะอาหารจะขยายตัวจากอาหารที่คงค้าง รวมถึงอาจมีการไหลย้อนของอาหารจากลำไส้เล็กกลับมาด้วย ม้าก็จะแสดงอาการเจ็บปวดมาก หากกระเพาะอาหารมีการขยายตัวมากๆ อาจทำให้กระเพาะอาหารแตกได้ และม้าจะตายในที่สุด แต่หากสอดท่อระบายสิ่งที่คงค้างในกระเพาะอาหารแล้วกระเพาะจะหดตัว ม้าก็จะอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

gastriculcer 02 gastriculcer 03  gastriculcer 04

สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลสุขภาพม้าไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค เพราะเป็นสิ่งที่เราได้ง่ายที่สุด การรักษาและการวินิจฉัยเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น การป้องกันด้วยการปรับการจัดการการให้อาหาร เป็นสิ่งที่เจ้าของม้าหรือผู้ดูแลสามารถทำได้โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้แต่น้อย แต่สำหรับการวินิจฉัยและการรักษานั้น ทำได้ไม่ง่าย และมีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตม้าได้เลยทีเดียว


เราเลือกได้ว่าจะหยิบยื่นสิ่งใดให้กับม้า เพราะชีวิตม้าก็อยู่ในมือของคุณเอง.....

ที่มา: เว็บไซต์โรงพยาบาลม้าโคราช www.thehorsepital.com