วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

ม้ามาจากไหน วิวัฒนาการจนมาเป็นม้าในปัจจุบันได้อย่างไร

ในปัจจุบันโลกของเรามีม้ามากกว่า 400 สายพันธุ์ ขนาดแตกต่างกันไป ตั้งแต่ม้าแคระ หรือที่เรียกกันว่า Miniature ที่มีขนาดเล็กกว่าหมาบางพันธุ์ จนถึงม้าในกลุ่ม Draft horse ที่สูงกว่า 180 เซนติเมตร หนักเป็นตันๆ

แต่เชื่อหรือไม่ว่าม้าเหล่านี้มีบรรพบุรุษเดียวกัน เหมือนกับที่คนก็มีวิวัฒนาการมาจากลิงนั่นเองครับ

ซึ่งบรรพบุรุษของม้าในปัจจุบันมีขนาดใกล้เคียงกับหมาบางแก้วเท่านั้นเองครับ โดยมีชื่อเรียกว่า ไฮราโคทีเรียม (Hyracotherium) ซึ่งเจ้าสัตว์ชนิดนี้มีชีวิตอยู่เมื่อ 60-70 ล้านปีก่อน ซึ่งก็เป็นสัตว์กินพืช อาศัยอยู่ในเขตป่าพรุ ไม่ได้เล็มกินหญ้าบนพื้นเหมือนม้าในปัจจุบัน แต่จะกินพวกยอดไม้อ่อนๆ มากกว่า (จัดอยู่ในกลุ่ม Browser) นิ้วเท้าหน้ามี 4 นิ้ว นิ้วขาหลังมี 3 นิ้ว


จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงช่วง 25-35 ล้านปีก่อน เจ้าตัวที่ชื่อว่า มีโซฮิปปัส (Mesohippus) ก็ถือกำเนิดขึ้น มีขนาดเท่ากับแกะในปัจจุบัน และนิ้วเท้าขาหน้าลดลงเหนือเพียง 3 นิ้ว ซึ่งมีโซฮิปปัสก็เป็นสัตว์ที่จัดเป็นเหยื่อของสัตว์กินเนื้ออื่นๆ ด้วยสถานการณ์บังคับจากการล่า รวมทั้งสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ของสภาพภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าขึ้นมา เจ้ามีโซฮิปปัสก็เลยเริ่มออกไปใช้ชีวิตในทุ่งหญ้า ซึ่งในทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ๋นี้เอง มีโซฮิปปัสก็มีจำเป็นที่จะต้องมีวิวัฒนาการให้ตัวใหญ่ขึ้น เพราะอาหารมากขึ้น ต้องวิ่งเร็วขึ้น เพราะต้องวิ่งหนีสัตว์อื่นที่จะล่ามันเป็นอาหาร และด้วยการที่อยู่ในทุ่งหญ้าก็ทำให้ฟันของมีโซฮิปปัสเริ่มเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมในการกินหญ้ามากขึ้น และจำนวนของนิ้วเท้าก็ลดลง


วิวัฒนาการของม้าก็เป็นแบบนั้นมาตามลำดับ จนเวลาล่าวงเลยไปอีก 10-20 ล้านปี (เป็นช่วง 10-25 ล้านปีก่อน) ก็มีวิวัฒนาการจนเป็น เมรีชิปปัส (Merychippus) ซึ่งมีขนาดเท่ากับม้า Shetland pony ในปัจจุบัน ซึ่งมีความสูงไม่เกิด 100 เซนติเมตร มีการวิวัฒนาการที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตในพื้นที่โล่ง และหาอาหารโดยการเล็มกินหญ้า (Grazer) อย่างเต็มตัว

จากนั้นก็มีการวิวัฒนาการต่อมาเป็น ไพลโอฮิปปัส (Pliohippus) ในช่วง 2-7 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นม้าที่มีความว่องไวขึ้น และมีขนาดเท่ากับม้า Welsh pony ซึ่งสูงกว่า 120 เซนติเมตร มีความว่องไวขึ้น สามารถวิ่งได้เร็วมากกว่าสัตว์ที่จะล่าพวกมัน และนิ้วเท้าของมันก็ลดจำนวนลงเหลือ 1 นิ้ว และพัฒนาเป็นกีบเช่นเดียวกับม้าในปัจจุบัน


ดังนั้นม้าในสกุลเอควัส (Equus) จึงเริ่มมีวิวัฒนาการเริ่มต้นย้อนไปน้อยกว่า 2 ล้านปีก่อนเท่านั้น ซึ่ง Equus ในสมัยแรกๆ นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับม้ามองโกเลีย (Mongolia Przewalski’s Horse) ซึ่งเป็นม้าป่าสายพันธุ์สุดท้ายของโลกที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งม้าในกลุ่ม Equus ใช้เวลานับล้านปีจนกว่าจะวิวัฒนาการมาเป็นม้าสายพันธุ์ต่างๆ ในปัจจุบัน


ระยะเวลากว่า 60-70 ล้านปีที่ม้ามีการวิวัฒนาการม้านั้น ม้ามีการปรับตัวจากขนาดเท่าสุนัขจนมีขนาดสูงใหญ่เกือบสองเมตร จากที่เคยเป็นเหยื่อที่จับกินได้ง่าย ก็พยายามวิ่งให้เร็วขึ้นเพื่อหนีจากความตาย หลังเป็นแนวเส้นตรงมากขึ้นเพื่อที่จะใช้ความเร็วได้ดีขึ้น ขามีความยาวมากขึ้นเพื่อที่จะก้าวได้ยาวขึ้น จำนวนนิ้วลดลงจนเหลือ 1 นิ้ว เล็บนิ้วเท้าก็พัฒนาจนกลายเป็นกีบที่แข็ง และหุ้มรอบนิ้วเท้า เพื่อรองรับน้ำหนัก และทำให้วิ่งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และฟันของม้าก็พัฒนามาสำหรับเป็นสัตว์ที่เล็มกินหญ้าบนพื้น

นี่คือที่มาของม้าในปัจจุบันครับ ถ้าเราเข้าใจที่มาของม้า สาเหตุของการวิวัฒนาการ มันก็จะทำให้เราเข้าใจว่าธรรมชาติของม้าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีที่มาอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ม้าที่เราเลี้ยง มีชีวิตใกล้เคียงกับความเป็นอยู่ในธรรมชาติ และไม่ต้องมีปัญหาสุขภาพอันเกิดจากความไม่รู้ของเรา

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

ทำไมคนถึงชอบม้า (1)

ทำไมคนถึงชอบม้า?

ผมถามตัวเองด้วยคำถามนี้ เพราะว่าทุกวันนี้รู้สึกว่ามีคนเลี้ยงม้าในบ้านเรามากขึ้นทุกที

สำหรับผมแล้วรักแรกพบที่มีกับม้า ก็คงหนีไม่พ้นสมัยที่เรียนอยู่ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับเด็กมหิดล ผมว่าหลายคนคงเคยผ่านคอกม้าของคณะสัตวแพทย์กันบ้างล่ะ หรือวันดีคืนดีก็มีม้าหลุดออกไปวิ่งเล่นตามถนนบ้างล่ะ (สมัยแรกๆ ที่คอกม้ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี จะสามารถพบปรากฏการณ์นี้ได้เป็นประจำครับ)

สาเหตุที่ต้องไปทำความรู้จักกับม้าก็เนื่องจากเหตุการณ์บังคับ เพราะตามหลักสูตรของคณะ เด็กสัตวแพทย์มหิดลทุกคนต้องเรียนอายุรกรรมของแทบทุกประเภทสัตว์ โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 7 กลุ่มหลัก ได้แก่
อายุรกรรมสัตว์เลี้ยง (Pet medicine)
อายุรกรรมสัตว์เคี้ยงเอื้อง (Bovine medicine)
อายุรกรรมสัตว์ปีก (Avian medicine)
อายุรกรรมสุกร (Swine medicine)
อายุรกรรมสัตว์ป่า (Wildlife medicine)
อายุรกรรมสัตว์น้ำ (Aquatic medicine)
อายุรกรรมม้า (Equine medicine)
ส่วนใครจะชอบประเภทไหนเป็นพิเศษก็ไปเน้นกันเอาเอง หาที่ฝึกงานเพิ่มเติม หรือติดตามอาจารย์ไปดูเคสตามที่ใจปรารถนา

ผมจับม้าครั้งแรก บอกตรงๆ ครับ “กลัว” ม้าตัวเบ้อเริ่ม ผมตัวนิดเดียวเอง

“จับม้าต้องระวังนะ อย่าประมาทนะ ระวังม้าเตะนะ จับไม่ดีระวังมันกัดล่ะ กัดทีนึงเนื้อหลุดเลย เพราะฉะนั้น จับม้าดีๆ ล่ะ”
.........

ลองคิดดูสิครับ ขณะที่จับม้าครั้งแรกก็มีเสียงเตือนแบบนี้ลอยมา ถึงจะหวังดีก็เถอะ.........

เฮ้ยยยยยยย กูไม่เคยจับ เฮ้ยยยยยยย กูกลัว เฮ้ยยยยยย ไม่ต้องขู่กูก็กลัวแล้ววววววววววววววววว

เสียงในใจร่ำร้องเลยครับ แต่ก็ต้องทำใจดีสู้ม้าเอาไว้ ซึ่งก็... ไม่เห็นมันเตะนี่หว่า ไม่กัดด้วย ถ้าไม่นิ่งก็ดึงนิดนึงก็อยู่แล้วนี่หว่า ไม่เหมือนวัว ปล้ำเท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่ เท่านั้นแหละครับ หัวใจพองโตเลย ไอ้หน้ายาวๆ นี่มันน่ารักเว้ย ตัวเบ้อเริ่ม จูงไปไหนก็ไป เดินๆ อยู่ก็เอาจมูกมาดุนๆ เลียมือ บางทีก็เอาหน้ามาซุก เอ้อ ดีว่ะ ฟีลแบบนี้ชอบ

หลังจากนั้นก็เข้าๆ ออกๆ คอกม้าเป็นว่าเล่น ช่วยทำนู่นทำนี่เท่าที่เวลาเด็กสัตวแพทย์คนนึงจะเอื้ออำนวย มีช่วงนึงที่ต้องมายกขาม้าทุกวัน วันละเกือบชั่วโมง เพราะกีบเน่าเละเทะไปหมด เหม็นก็เหม็น หนักก็หนัก แต่พอจบออกมารู้เลย ถ้าไม่ได้ม้าตัวนั้น จบออกมาเวลาจะยกขาม้าก็คงจะเก้ๆ กังๆ กล้าๆ กลัวๆ อยู่เหมือนเดิม เพราะหลายคนบอกว่า ถ้ายกขาม้าตัวนี้ได้ อีกหน่อยไปยกตัวไหนก็ได้ ง่ายหมด (ซึ่งก็จริงครับ จบออกมาก็ทำงานด้วยความไม่กลัวม้าแล้ว)

ตอนที่เรียนนั้นก็มีโอกาสได้ขี่ม้าด้วย ม้าก็ใหม่ คนขี่ก็ใหม่ เหอๆๆๆ ถ้าไม่เจอเองคงไม่รู้ครับ ม้าพาวิ่งจากมุมสนามนึงไปอีกมุมนึง ข้างๆ เป็นรั้วเหล็ก ดีนะที่กอดคอไว้แน่นไม่ร่วงลงมา อีกครั้งนึกด้วยความที่เพิ่งหัดขี่ ม้าถอยครับ ทำไงวะ มันถอยๆๆๆๆ โอเคเค้าสอนว่าถ้าจะให้ม้าหยุด ต้องดึงบังเหียน เอ้า ดึงงงงง (สำหรับคนที่ขี่ม้าเป็นคงทราบว่าเหตุการณ์ต่อไปเป็นเช่นไร)

เกือบโดนม้าทับตายครับ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ ดีนะไม่เป็นอะไรมาก ทั้งคนทั้งม้า

พอมีม้าเข้ามารักษาที่คณะก็ได้ทำอะไรสารพัด ได้ช่วยตรวจ ช่วยรักษา ให้ยา อาจารย์ให้ทำอะไรก็ทำไป

จนกระทั่งพอพบเจอ หลายๆ เคสเข้า ก็รู้สึกถึงจุดร่วมอย่างนึงว่า ที่ม้ามันป่วยเนี่ย เพราะคนแท้ๆ เลยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่ก็ปล่อยปะละเลยจนมันแย่
ก็เลยเกิดความคิดที่ว่าจะเป็นหมอม้าแน่นอนล่ะ เพราะอย่างน้อยเราก็ทำได้ ช่วยมันได้
และอีกอย่างนึงที่ทำให้ผมชอบม้าก็คือเวลาที่อยู่กับม้าแล้วรู้สึกสงบ สบายใจ ซึ่งผมไม่รู้สึกแบบนี้เวลาที่อยู่กับสัตว์ประเภทอื่นๆ หรือหากจะรู้สึกก็ไม่เท่ากับที่รู้สึกกับม้า

กล่าวโดยสรุปก็คือ ที่ผมมาเป็นหมอม้าทุกวันนี้ เพราะว่าผมชอบเวลาที่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของม้าสักตัวดีขึ้น

สำหรับคนอื่นๆ เคยถามตัวเองกันมั้ยครับ ว่าทำไมถึงชอบม้า?

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

ผมอยากเลี้ยงม้าครับหมอ

เคส1: ฮัลโหล สวัสดีครับ ที่นั่นใช่โรงพยาบาลม้ามั้ยครับ

หมอ: ใช่ครับ ผมหมอฐาพูดสายครับ

เคส1: หมอครับ ผมขอรบกวนหน่อยครับ พอดีผมอยากจะเลี้ยงม้า หมอพอจะแนะนำได้มั้ยครับ

หมอ: อ่า ก็ได้นะครับ อยากจะให้แนะนำอะไรบ้างครับ

เคส1: ผมไม่มีความรู้เลยครับ ก็เลยอยากจะถามหมอว่า หมอหาม้าดีๆ ให้สักตัวได้มั้ยครับ

หมอ: อยากให้หมอหาม้าให้เนี่ย หมอพอแนะนำได้นะ แต่หมอขอถามหน่อยว่าทำไมถึงอยากเลี้ยงม้าครับ?

เคส1: ผมชอบครับหมอ ช่วงนี้เค้าเลี้ยงกันเยอะ เลยอยากจะเลี้ยงบ้าง เอาไว้ขี่สไตล์คาวบอยกับเพื่อนๆ ครับ

หมอ: แล้วขี่ม้าเป็นหรือยังครับ?

เคส1: ปกติก็ขี่อยู่นะครับ แต่ขี่ม้าของเพื่อน พอขี่ๆ ไปแล้วชอบก็เลยอยากจะมีม้าเองบ้าง

หมอ: งั้นก็ขี่กับเพื่อนเหมือนเดิมก็ดีแล้วนี่ครับ เพราะถ้าอยากเลี้ยงม้าจริงๆ เนี่ยรายละเอียดมันเยอะมากนะ แล้วที่สำคัญต้องมีเวลา ถ้าไม่มีเวลาก็ต้องมีเงินสำหรับซื้อเวลาคนอื่นมาเลี้ยงม้าให้เรานะครับ

เคส1: อืม.... มันดูแลยากมากเหรอครับ ที่บ้านผมเลี้ยงวัวอยู่แล้ว เลี้ยงม้าเพิ่มอีกสักตัวก็ไม่น่ายากนะครับ

หมอ: ม้ากับวัว ชื่อก็บอกแล้วว่าคนละอย่างกัน ถ้าเหมือนกันเนี่ย ก็คงเรียกวัวเหมือนกันไปแล้วครับ

ธรรมชาติม้ากับธรรมชาติของวัวต่างกันนะครับ ถ้าเลี้ยงม้าเหมือนวัว ไม่นานหรอกครับก็จะเหลือแต่วัวให้เลี้ยงนะ

ถ้าจะเลี้ยงม้าต้องศึกษากันใหม่เลยครับ ตั้งแต่เรื่องการดูแลสุขภาพประจำวัน เรื่องอาหารการกิน วันนึงต้องมีหญ้าให้กินตลอดเวลา อาหารเม็ดถ้าจะให้ก็ต้องให้วันนึง 3-4 มื้อ มื้อนึงไม่ควรเกิน 1.5 กิโล ถ้าม้าหนักประมาณ 400 โลนะครับ อาหารเสริมอีก เพราะหญ้าและอาหารม้าบ้านเรามีแร่ธาตุไม่เพียงพอ ถึงอาหารบางยี่ห้อจะโฆษณาว่าไม่ต้องเสริมก็เถอะ จะเชื่อคนขายอาหาร หรือจะเชื่อหมอก็ตามใจนะครับ

สภาพอากาศบ้านเราก็ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงม้า ม้าต้องเสียเหงื่อเยอะ ก็ควรจะเสริมเกลือแร่อีก เพื่อให้ม้าผลิตเหงื่อและระบายความร้อนได้ ไหนจะเรื่องปล่อยยแปลง เก็บคอกม้า เช็คการกินน้ำ กินอาหารว่ากินหมดหรือเปล่า ดูขี้ม้าเพื่อประเมินสุขภาพม้าด้วย การแปรงขนเพื่อดูแลเรื่องสุขภาพผิวหนัง แปรงขนม้าตัวนึงอย่างน้อยก็วันละเกือบชั่วโมงนะครับ แปรงที่ใช้ก็มีหลายชนิดเหมาะกับงานแต่ละประเภทไป เสร็จแล้วก็ต้องแคะกีบเพื่อเช็คสุขภาพของกีบและลดการหมักหมม อาบน้ำนี่ก็อาทิตย์ละครั้งก็ได้ครับ อันนี้คร่าวๆ นะครับ สำหรับการดูแลแต่ละวัน

เคส1: ....... อืมมมมมม นี่คร่าวๆ เหรอครับหมอ

หมอ: ใช่ครับ คร่าวๆ นะ ถ้าจะลงรายละเอียดอีกก็ได้ครับ หมอพอมีเวลาครับ

เคส1: ผมว่าผมไปขี่กับเพื่อนเหมือนเดิมดีแล้วล่ะหมอ ขอบคุณมากครับ

หมอ: อ่าว ไม่อยากเลี้ยงแล้วเหรอครับ

เคส1: ฟังแล้วดูยุ่งยากมากเลยหมอ ตอนแรกว่าจะซื้อมาลองเลี้ยงสักตัวนึง ฟังหมอพูดแล้วไม่ไหว

หมอ: ดีแล้วครับ ถ้าชอบขี่ม้าก็หาที่ขี่ม้าก็พอแล้วนะครับ ถ้ามีอะไรวันหลังก็โทรมาปรึกษาได้ครับ

เคส1: ขอบคุณครับหมอ วันนี้ผมรบกวนเท่านี้ครับ สวัสดีครับ

หมอ: สวัสดีครับ

หลังจากวางสาย ผมชูกำปั้นขึ้นฟ้า ดึงลงมาข้างตัวแรงๆ พร้อมกับตะโกนดังๆ ว่า “เยสสสสส!!”

ทำไมผมถึงมาเป็นหมอม้า(วะ)

วันนี้ได้เจอเจ้าของม้าที่พูดติดตลกว่า “เป็นหมอเนี่ยลำบากนะ เรียนมาตั้งเยอะ ต้องมานั่งจมกองเยี่ยว กองขี้เนี่ยเนอะหมอ ถ้าผมมีลูกมีหลานนะไม่เอาอ่ะ ไม่ให้เรียนหรอก เรียนอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่สายแพทย์ ลำบากเกินไป”

ผมก็ได้แต่หัวเราะ เพราะมันก็จริงของแกนะ แต่หลักจากออกมาจากคอกม้าก็มาคิดว่า ทำไมผมถึงมาเป็นหมอม้า(วะ)

อืมมมมม นั่นสิ แรกเริ่มเดิมทีตอนที่เป็นนักศึกษาสัตวแพทย์ปีต้นๆ ผมไม่เคยสนใจม้าเลย เรียกว่าความสนใจเท่ากับศูนย์ เพราะตอนนั้นคิดว่าม้าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงโดยคนที่มีเงิน คนที่ซื้อม้าได้น่าจะเป็นคนที่มีกำลังทรัพย์ที่พร้อมจะดูแลชีวิต และสุขภาพม้าได้ เพราะม้าไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มปศุสัตว์เช่นเดียวกับวัว ควาย เกษตรกรประเทศเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงม้าเพื่อขายเนื้อ หรือรีดนม เรียกว่าไม่ได้เลี้ยงเพื่อการดำรงชีพ แต่เลี้ยงเพื่อความสบายใจเหมือนคนเลี้ยงหมาแมวนั่นแหละ เพราะฉะนั้นถ้าคนที่ไม่มีเงินเหลือแล้วคิดจะเลี้ยงม้าก็ไม่ใช่เรื่องสักเท่าไหร่ เพราะนอกจากค่าตัวม้าที่สูงแล้ว ค่าใช้จ่ายในการดูแลม้าต่อเดือนก็ค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน

นี่คือสิ่งที่ผมคิดตอนที่เป็นนักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สาเหตุที่ทำให้ผมคิดเช่นนั้นก็คือ การออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท แล้วได้เห็นชีวิตการเป็นอยู่ของชาวบ้านเกษตรกรที่เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ ซึ่งเลี้ยงเอาเนื้อไม่ก็นม ทำเป็นอาชีพ ซึ่งเค้าขาดแคลนความรู้ ความเข้าใจในการจัดการ การดูแลที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไม่มีการพัฒนาอย่างที่ควร และการเลี้ยงปศุสัตว์ก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้แล้ว ผมนี่แหละที่จะเป็นคนที่จะมาออกมาช่วยพวกท่านเองงงงงงงง

จำได้ว่าความคิดตอนนั้นยิ่งใหญ่มาก อุดมการณ์มาก มองหน้าชาวบ้าน มองหน้าวัวที่เค้าเลี้ยง แล้วก็ปฏิญานกับตัวเองไว้แบบนั้น

จนกระทั่งตอนอยู่ปี 5 ได้เริ่มฝึกปฏิบัติทางคลินิก ได้ฝึกงานเกี่ยวกับม้า ได้มาเจอม้าตัวเป็นๆ ก็รู้สึกว่า แล้วไงวะ เอ็งก็ดูสบายดีนี่ แล้วเอ็งก็ดูเหมือนจะเตะทุกคนรอบตัวตลอดเวลา นิสัยแบบนี้ไม่เอาด้วยหรอก ทำอะไรก็ต้องบิดจมูก ต้องคอยระวังว่าจะเตะ จะกัด ดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่คาดเดาไม่ได้ยังไงก็ไม่รู้ แต่ก็โอเค ตามหลักสูตรต้องเรียนทุกประเภทสัตว์ ก็เรียนไป ก็ปฏิบัติไป ชอบมั้ย ก็ไม่นะ ก็งั้นๆ แหละ

ช่วงนั้นจับม้าก็จับด้วยกำลัง มีแรงก็ดึงไว้ จะเข้าหาม้าก็กล้าๆ กลัวๆ อาศัยความคล่องตัวสมัยที่เคยออกค่าย ออกฝึกงานวัว เอามาใช้กับม้าแทน ก็พอรอดไปได้บ้าง จนในที่สุดก็มีม้าตัวนึงเข้ามาที่คณะเพื่อที่จะนำมาเป็นม้าการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องระบบทางเดินอาหาร ซึ่งหมายความว่านำมาเป็นอาจารย์ใหญ่นั่นเอง เนื่องจากเป็นม้าเจ็บหนักที่ไม่สามารถรักษาได้ แต่พอได้เจอเท่านั้นแหละ ไหนวะที่ว่าเจ็บหนัก ม้าผอมนะแต่ก็เออ มันก็ไม่ได้ผอมไปกว่าวัวที่เคยเห็นนี่หว่า ทีเห็นเจ็บก็มีแต่ตรงขานี่ ตอนนั้นคิดแบบนั้นจริงๆ ครับ

จนกระทั่งได้รู้ว่าสิ่งที่เกิดกับม้าตัวนี้ มันเกิดจากความปล่อยปละละเลยไม่มีการดูแลที่ดีพอ จนทำให้กีบเน่าเละเทะ ส่งกลิ่นเหม็น และทำให้ม้าตัวนี้เจ็บปวดทรมาน

จังหวะนั้น งงครับ

ม้าเนี่ยนะเกิดปัญหาจากการที่คนไม่ดูแล เฮ้ย มันสวนทางกับสิ่งที่คิดเลยนะ ม้าเนี่ยตัวนึงตั้งแพง คนต้องดูแลดีสิ คนเลี้ยงเพื่อความสบายใจนะ เพราะเค้าชอบนะ ถึงเลี้ยงไว้ขี่ก็ต้องดูแลป่ะวะ แล้วนี่ปล่อยให้เป็นขนาดนี้เนี่ยนะ บ้าไปแล้ว และแค่ไม่ได้ดูแลนี่ทำให้กีบเน่าขนาดนี้เลยเหรอ เป็นไปได้เหรอ วัว ควาย นอนแช่ปลัก เหยียบขี้เละเทะทั้งปีทั้งชาติมันยังไม่ค่อยเป็นอะไรเลย ม้าก็ไม่น่าจะต่างกัน แต่ไหงเละขนาดนี้

สับสนมากครั้บตอนนั้น สิ่งที่เคยตั้งใจมานี่มันถูกต้องมั้ยเนี่ย การที่เราคิดว่าจะจบออกมาเพื่อช่วยคน มันไม่ใช่เรื่องผิดแน่ๆ ล่ะ แต่ช่วยคนแล้วยังไงต่อ คุณภาพชีวิตสัตว์มันจะเป็นยังไง มันจะดีขึ้นมั้ย หรือว่าแค่ช่วยให้คนได้เงินมากขึ้นเท่านั้นเหรอ?

แล้วใครจะยืนข้างสัตว์ล่ะ?

ก็กลับมาคิดว่างานที่เราจะทำเนี่ยมันสร้างอะไรให้กับโลกใบนี้ หรืออย่างน้อยมันสร้างอะไรให้กับโลกของสัตว์สักตัวนึงได้มั้ย เพราะถึงยังไงเราก็เป็นสัตวแพทย์ แพทย์ที่รักษาสัตว์ ยืนเคียงข้างสัตว์ ถ้ามีอะไรที่พอจะทำได้พอจะช่วยได้ ก็อยากจะทำอยากจะช่วย สัตว์อื่นๆ มีคนทำเยอะแล้ว มีคนช่วยเยอะแล้ว แต่ม้าเนี่ย หมอม้าในประเทศเรามีน้อยนะ สิ่งที่คนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับม้าก็ยังมีอีกเยอะ ปัญหาสุขภาพของม้าที่เกิดจากคน (ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะทำให้เกิด) ก็ยังมีมาก

เพราะฉะนั้น หมอม้าคือคำตอบสุดท้าย

หลังจากนั้นก็เลือกที่จะฝึกงานม้าอย่างเดียว จนในที่สุดก็มาเป็นหมอม้า และได้รู้ว่าเวลาที่อยู่กับม้ามันเป็นเวลาที่พิเศษเพียงใด ม้าเป็นสัตว์ใหญ่ที่เราสามารถจับได้ จูงได้ ลูบคลำได้ แสนรู้ไปหมด (ถ้าเราเข้าใจมัน) และที่สำคัญความรู้สึกตอนที่อยู่กับม้าตามลำพังนั้น มันทำให้เราสงบ
มันรู้สึกว่าปัญหาไม่ว่าใหญ่แค่ไหนมันก็เข้ามาแล้วก็ผ่านไป
“เครียดเหรอ เหนื่อยเหรอ ท้อเหรอ แต่มันก็ชีวิตนะ เกิดมาแล้วก็ใช้ชีวิตไปสิ จะไปคิดมากทำไม” เหมือนม้าหลายๆ ตัวจะบอกแบบนั้น ม้าไม่ได้พูดหรอกครับ แต่ม้ากระซิบบอกผ่านการกระทำ ผ่านวิถีชีวิตของตัวมันเอง ม้ามีชีวิตที่เรียบง่ายถ้าเราเข้าใจมันมากพอ กิน ขี้ ปี้ นอน ทำงาน เจ็บป่วยก็พัก ถ้าหนักหน่อยก็หาหมอ ถ้าไม่ไหวก็บ๊ายบายจากโลกนี้ไป

ชีวิตมันก็เท่านั้นเองครับ

ทุกวันนี้ยังมีแรง ยังมีพลังก็ทำต่อไป ทำเท่าที่ทำได้นี่แหละ วันไหนที่หมดพลัง ผมก็คงต้องบ๊ายบายจากโลกของการเป็นหมอม้าเช่นกัน

เพราะชีวิตมันก็เท่านั้นเองครับ ;)