ม้าเสียดก็แนะนำให้กรอกสารพัดสิ่งเข้าไป
มีอะไรยัดใส่ปากมันไปเดี๋ยวหาย กรอกน้ำมันพืช กรอกกฤษณากลั่น กรอกยาธาตุน้ำแดง
ให้ดื่มน้ำหรือกรอกน้ำเยอะๆ
ผมไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใดถึงมีคำแนะนำนี้เกิดขึ้นมา
อาจจะคิดว่าการกรอกกฤษณากลั่นและยาธาตุน้ำแดงช่วยขับลม ให้ม้าตดหรือเรอออกมา
ซึ่งบ้าไปแล้ว อาจจะเพราะคิดว่าน้ำมันพืชจะช่วยให้ลำไส้ลื่นขึ้นแล้วสิ่งที่อุดตันนั้นจะเลื่อนหลุดไปได้
ซึ่งถามว่าใช้ได้มั้ย เข้าใจถูกมั้ย ก็ถือว่าเข้าใจถูกครับ
น้ำมันพืชช่วยให้อึนิ่มด้วย..........
แล้วทำไมการกรอกอะไรเข้าไปมันถึงไม่ดี?
ปัญหาจากการกรอกสารพัดสิ่งมั่วๆ
เข้าไป มันจะเกิดเมื่อม้าเสียดแล้วมี Gastric reflux นี่แหละครับ เอ๊ะ แล้วมันหมายความว่าอะไร? Gastric reflux หมายความว่ามีอาหาร หรือน้ำ ไหลย้อนกลับมาที่กระเพาะอาหารครับ
คุณอาจจะคิดว่าเดี๋ยวมันก็อ้วกออกมาเอง ถ้าคิดแบบนี้ คุณคือจุดอ่อนครับ
เพราะธรรมชาติม้าอ้วกไม่ได้ครับ เรอก็ไม่ได้ ลองจินตนาการว่าถ้ามันไหลย้อนออกมาชั่วโมงละ
2-3 ลิตร ต่อเนื่องกันเรื่อยๆ
ร่วมกับคุณกรอกสารพัดสิ่งเข้าไปมันจะเกิดอะไรขึ้น.......
กระเพาะอาหารแตกครับ!!
ถ้าแตกแล้วคุณเตรียมเรียกรถด่วนเลย ไม่ใช่รถขนม้าไปโรงพยาบาลนะครับ
รถขุดดินมาขุดหลุมรอครับ เพราะกระเพาะอาหารม้าที่น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัมนั้น
มีความจุไม่เกิน 18-20 ลิตรเท่านั้น! เท่ากับถังสีเท่านั้น
ยิ่งม้าเล็กก็ยิ่งเล็กตามไปด้วย
และขอย้ำครับว่าม้าเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยวต่างกับวัวควายโดยสิ้นเชิง อย่ามั่ว!!
เมื่อรู้แบบนี้แล้วคุณยังจะกล้ากรอกอะไรลงไปมั่วๆ
อีกมั้ย?
ถ้ากล้าผมก็ขอยืนไว้อาลัยให้กับม้าของคุณที่ต้องมาเจอกับเจ้าของแบบนี้
ถือว่าเป็นเวรกรรมแต่ชาติปางก่อนก็แล้วกัน
ถ้าคุณจะบอกว่าก็เคยกรอกแล้วไม่เป็นอะไร
หายด้วย ก็ถือว่าม้าตัวนั้นโชคดีที่เสียดแบบที่ไม่มี Gastric
reflux กรอกไปเลยไม่ส่งผลเสียมากนัก (แต่ช่วยมั้ย ไม่มีใครบอกได้)
และอีกอย่างนึงที่ผมไม่พูดก็คงไม่ได้
การสอดท่อถ้าสอดไม่ดีเข้าหลอดลมนะครับ หลายคนบอกว่าม้าจะไอเวลาเข้าหลอดลม
แต่ไม่เสมอไป ม้าบางตัวท่อเข้าหลอดลมก็ไม่มีอาการไอ
ถ้าคุณสอดเข้าไปแล้วม้าไม่ไอแล้วคุณกรอกอะไรลงไปก็เตรียมเรียกรถครับ
รถขุดดินเช่นเดิม
แล้วก็การกรอกยาแบบเอายาใส่ท่อพีวีซีใหญ่ๆ
แล้วจับหน้าม้ายกขึ้นแล้วเทพรวดลงไปน่ะ เข้าปอดมานักต่อนักแล้ว
เพราะเวลาม้าเงยหน้า ตำแหน่งของหลอดลมจะมารับกับสิ่งของที่กรอกเข้าไปพอดี
นึกถึงเวลาที่คุณวิ่งเหนื่อยๆ สิ คุณยังเงยหน้าเพื่อที่จะหายใจเลย
เพราะอะไรเคยคิดมั้ย เพราะลักษณะทางกายวิภาคมันเป็นเช่นนั้น
เงยหน้าแล้วหายใจสะดวกขึ้นไง กายวิภาคในส่วนนี้ของคนกับม้าก็ไม่ต่างกันนัก
..............
โดยธรรมชาติม้าสามารถอั้นอุจจาระได้นาน
1-2 วัน
ถ้าปกติคุณขี้เช้า-เย็น
แล้ววันนึงคุณไม่ได้ขี้เลยคุณยังคิดว่ามันธรรมชาติมั้ย ปกติม้าขี้วันนึงเป็นสิบกอง
แล้วไม่ขี้ 1-2 วัน นี่คุณกล้าบอกว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติอีกหรือ
เรื่องขี้เป็นเรื่องธรรมชาติ
และถ้าม้าขี้ด้วยความถี่ ปริมาณ และลักษณะขี้ ที่ผิดไปจากปกติ
นั่นก็ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติแล้วครับ ลองไปอ่านเรื่องขี้ๆ
ที่ผมเคยเขียนไว้ก็แล้วกันนะ
.........
หลายคนแนะนำให้จูงม้าเดิน
เมื่อม้าเริ่มมีอาการเสียด
ข้อนี้ขอปรบมือให้ครับ
เพราะการจูงม้าเดินนั้นส่งผลดีกับม้าครับ
เพราะการเดินจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนที่ของทางเดินอาหาร และกระตุ้นให้ม้าขับถ่าย
การเดินจะช่วยให้ม้าลดความเจ็บปวดลงได้เล็กน้อย การเดินช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดจากการที่ม้าล้มตัวลงนอนบนพื้น
หรือลงไปนอนกลิ้งได้ และที่สำคัญคือ เมื่อม้าเริ่มแสดงอาการเสียดเล็กน้อย
การจูงม้าเดินเป็นวิธีรักษาเบื้องต้นที่คุณทำได้เองทันทีเลยครับ
..........
ล้วงเอาขี้ที่ค้างอยู่ออก
แล้วก็สอดท่อกรอกยา หลายคนบอกว่าหมอก็ทำ
อยากจะบอกเหลือเกินว่า
"สิ่งที่เป็นกับสิ่งที่เห็นมันไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน"
เวลาหมอไปรักษาแล้วล้วงก้นเอาขี้ออกหมอไม่ได้ช่วยเอาขี้ออกเพื่อให้ขี้ที่ค้างอยู่ออกไปจนหมดนะครับ
ที่ล้วงออกก็เพราะว่าจะได้คลำตรวจลำไส้ดูได้ชัดเจนขึ้นว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง
เงิบสิ
ลองคิดดูครับว่าแขนเรายาวเท่าไหร่
แล้วตัวม้ายาวเท่าไหร่ แล้วแขนเราเข้าไปได้แค่ไหน
แล้วถ้ามันอุดตันที่ลำไส้เล็กหรือที่ลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ตรงท้องม้าอ่ะ
จะล้วงขี้ออกมายังไงครับ ใช้ Common sense กันนิดนึง
ก็จะรู้ว่าหมอไม่ได้ล้วงขี้ออกเพื่อให้ม้าหายมันทำไม่ได้ครับ
ถ้าจะทำได้ก็คงต้องพี่งแม่นาคเท่านั้น
แล้วการสอดท่อน่ะ
หมอไม่ได้สอดเพื่อกรอกอะไรเข้าไป หมอต้องการจะตรวจว่ามี Gastric
reflux หรือไม่ จะได้ประเมินได้ว่าที่ม้าเสียดน่ะ มันน่าจะมีปัญหาที่ลำไส้ส่วนใด
แล้วจะรักษาอย่างไร และการที่จะบอกว่ามีหรือไม่มี Gastric reflux มั้ย มันต้องมีหลักการในการดู หลักการในการคิดคำนวณด้วย
ไม่ใช่ว่าสักแต่ว่าสอดๆ ไปก็จบ อย่างที่ทำๆ กัน และหมอไม่ได้แค่กรอกยาครับ
เข้าใจเสียใหม่ด้วย
..........
ให้น้ำเกลือ
การที่หมอให้น้ำเกลือก็เพื่อรักษาภาวะแห้งน้ำ
dehydration
และต้องการที่จะให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Overhydration เพื่อให้น้ำจากเลือดเข้าสู่ลำไส้เพื่อให้ก้อนอาหารที่แพ็คแน่นนั้น
มันหลุดออกและเคลื่อนผ่านไปได้ หลักการดูดีเลยทีเดียว งั้นที่ให้กันมั่วๆ เองสัก
2000 ซีซีบ้าง 4000 ซีซีบ้าง นั้นมันก็น่าจะดีใช่มั้ย ขอบอกว่าเอาน้ำเกลือที่ให้ไป
2-4 ลิตรนั้นน่ะ ตัดเปิดปากขวดกว้างๆ แล้วเอาราดตัวม้า
เช็ดหน้าเช็ดตาเพื่อความสดชื่นของม้าน่าจะดีกว่า เพราะถ้าคำนวณอัตราการให้น้ำเกลือ
และปริมาณน้ำเกลือที่ต้องให้แล้วมันได้แค่ไม่ถึง 10% ของที่ต้องการเท่านั้น
และผมเชื่อว่าพอผมบอกแบบนี้ก็จะมีคนลองคำนวณกลับว่างั้นควรให้เยอะๆ ไปเลย
ก็ขอบอกว่าไม่ถูกต้องอีกนั่นแหละ เพราะการให้น้ำเกลือไม่ใช่แค่ปริมาณ
แต่มันขึ้นอยู่กับวิธีการ และการประเมินสภาพม้า ที่หมอเรียกว่าการวินิจฉัยร่วมด้วย
...............
น่าจะหมดแล้วนะ....
ที่อยากจะฝากให้คิดดูคือ
คุณอย่าลืมว่าคนที่มาบอกวิธีรักษาที่เค้าเคยทำแล้วได้ผลน่ะ
เค้าบอกความจริงคุณแค่ครึ่งเดียว
โปรดฟังอีกครั้ง
เค้าบอกความจริงคุณแค่ครึ่งเดียว
เพราะตัวที่รักษาไปมั่วๆ
แล้วตายน่ะ เค้าไม่บอกคุณหรอก
และเหตุผลที่ตายเค้าก็มักจะคิดกันว่าม้าเป็นหนักมากเลยช่วยอะไรไม่ได้
โทษม้าเช่นเคย ไม่ค่อยคิดทบทวนแล้วโทษคนในกระจกกันหรอก ม้าเสียดเพราะอะไร
ก็โทษความซวย โทษม้า โทษตัวเองกันบ้างสิเฮ้ย จะได้คิดปรับปรุงพัฒนาอะไรกันบ้าง
พี่น้องค้าบบบบบ
ม้าเสียดแบบไหนคุณยังไม่รู้เลย
คุณยังไม่ได้ประเมินด้วยซ้ำไป คุณไม่เห็นม้าด้วยซ้ำไป คุณไม่ได้ซักประวัติอะไรเลย
แต่คุณก็แนะนำไปแบบนั้น ซึ่งมันอันตรายครับ
ม้าต้องมาเสี่ยงชีวิตจากความไม่รู้ของพวกคุณ อันตรายสำหรับเจ้าของก็คือเสียม้า
เสียเงิน เสียใจ แต่เจ้าของไม่เสียชีวิตแน่ๆ ม้าตายก็ซื้อใหม่ได้ คนแนะนำที่มั่วๆ
กันก็หายเข้ากลีบเมฆไปไม่ต้องรับผิดชอบอะไร หรือไม่ก็บอกว่าม้ามันเป็นหนัก
โทษแต่ม้า ไม่เคยโทษคนในกระจกบ้างเลยนะพวกคุณ
(อารมณ์บวกกับความปากหมาล้วนๆ
ขออภัยมา ณ ที่นี้)
........................
อ่านมาถึงตรงนี้คุณคงจะเห็นว่าสิ่งสำคัญของการรักษาแท้จริงแล้วไม่ใช่การรักษา
แต่มันคือการวินิจฉัย
ถ้าคุณจะเข้าใจการวินิจฉัยว่าต้องทำอย่างไร
คุณต้องมีพื้นฐานความรู้เสียก่อน ซึ่งก็หาไม่ยากเท่าไหร่ครับ
แค่คุณเรียนมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต และสอบเข้าสัตวแพทย์ แล้วเรียนสัตวแพทย์ 6
ปีเท่านั้นเอง แล้วก็ต้องฝึกงานเฉพาะทางเรื่องม้าด้วย คุณก็จะสามารถวินิจฉัยได้แล้ว
ถ้าสิ่งทีผมเสนอมันยากไป
ผมและหมอม้าหลายๆ คนก็พร้อมที่จะช่วยคุณ ในเรื่องการจัดการการเลี้ยงม้า
เพื่อลดปัญหาการเสียดท้อง รวมถึงปัญหาอื่นๆ
ที่เกิดจากการจัดการการเลี้ยงม้าที่ไม่เหมาะสม ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
ดีกว่าการตามรักษาเยอะครับ
หมอม้าในประเทศไทยมีไม่ถึง 50 คน
ม้าในประเทศมีเท่าไหร่กัน หมอจำนวนหยิบมือเท่านี้ช่วยคุณได้ไม่ทุกคนหรอกครับ
เพราะฉะนั้นคุณต้องช่วยตัวคุณเองก่อนเป็นอันดับแรก
เพราะว่าถ้าคุณจัดการการเลี้ยงได้ดีแล้ว คุณก็ไม่ต้องมานั่งปวดหัวเวลาม้าป่วยครับ
และที่สำคัญชีวิตที่อยู่ในกำมือคุณก็จะได้ไม่ต้องทรมานจากน้ำมือคุณด้วย
จะดีกว่ามั้ย
ถ้าเราจะเจอกันในสถานการณ์ชิวๆ บ้าง ไม่ใช่ม้าอาการแย่แล้วค่อยเจอกัน มันเหนื่อยนะ
ห๊ะ อะไรนะ ไม่เหนื่อยเหรอ? เฮ้อออออออออออ - -"