วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กีบม้า หัวใจอีกดวงของม้า


กีบม้าเป็นจุดที่อยู่ต่ำสุดของตัวม้า ซึ่งตรงข้ามกับความสำคัญที่คงต้องจัดให้อยู่ในลำดับต้นๆ เพราะหากกีบม้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ปัญหาต่างๆ ที่ตามมาก็จะน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย

กีบม้าควรได้รับการดูแลทุกวัน ด้วยการแคะกีบ และล้างทำความสะอาด
การแคะกีบและล้างกีบทุกวัน มีประโยชน์อย่างมาก เพราะสิ่งที่ติดอยู่ภายใต้กีบอาจจะไม่ได้มีแค่เศษดิน เศษทราย อาจจะเป็นหิน หรือกรวดก้อนเล็กๆ ที่เข้าไปติดอยู่ในร่องต่างๆ และเศษหินเหล่านี้เองที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบในภายหลังได้ รวมทั้งขณะที่เราทำความสะอาด เราก็จะสามารถสำรวจดูความผิดปกติของพื้นกีบได้ ว่ามีการอักเสบหรือไม่ เป็นการดูแลประจำวันที่ช่วยป้องกันโรค และหากมีการบาดเจ็บใดๆ ก็จะสามารถพบได้เร็ว อาการของโรคก็จะไม่รุนแรง

การตัดแต่งกีบม้าก็มีความสำคัญ หากทำดีก็ช่วยป้องกันปัญหาได้
การตัดแต่งกีบม้าและการใส่เกือก เป็นเรื่องที่เราควรให้ความใส่ใจมากขึ้น หลักการในการสังเกตุง่ายๆ คือ เราต้องรู้เสียก่อนว่ากีบปกติของม้าควรมีลักษณะใด เพราะหากเรารู้ว่าปกติเป็นอย่างไรแล้ว เมื่อเห็นสิ่งที่ผิดปกติไปก็จะสามารถทราบได้ทันที และบอกได้ว่าผิดไปจากเดิมอย่างไร

แล้วกีบม้าที่ปกติเป็นอย่างไร?

ส้นกีบด้านนอกกับด้านในไม่เท่ากัน
กีบม้าที่ปกติดูได้ไม่ยาก คำที่ควรท่องจำไว้มีเพียงคำเดียวคือ “ความสมมาตร”

หากเราใส่รองเท้าที่ส้นของรองเท้าด้านนึงสึกกว่าอีกด้าน เวลาเรายืนเราจะเป็นอย่างไร? ม้าก็เป็นเช่นกัน หากส้นกีบด้านในและด้านนอกสูงไม่เท่ากัน ม้าก็จะยืนขาเบี้ยว แรงกดที่ลงไปบนกีบก็จะไม่เท่ากัน จุดใดที่รับแรงกดมากก็จะมีโอกาสเจ็บมากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากเราใส่รองเท้าแตะที่ตัดส้นออก เวลาเรายืนเราจะเป็นอย่างไร? ม้าก็เป็นเช่นกัน หากส้นกีบเตี้ย เส้นเอ็นด้านหลังของกีบก็จะรับแรงตึงมากกว่าปกติ ทีนี้พอม้าไปวิ่งก็จะรับแรงตึงมากกว่าปกติ จากที่ปกติก็มากอยู่แล้ว โอกาสในการเจ็บก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย




มุมกีบของขาแต่ละข้างแตกต่างกัน

หากเราใส่รองเท้าคัตชูข้างซ้าย ส่วนข้างขวาเป็นรองเท้าแตะ เวลาเราเดินก็จะรู้สึกอย่างไร? ม้าก็เช่นกัน หากกีบเท้าซ้ายและขวาสูงต่ำต่างกันมาก เวลาเดินน้ำหนักที่ลงไปแต่ละข้างก็จะไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่ง และม้าแข่งหนึ่งตัวน้ำหนักเกือบครึ่งตัน










กีบแบบนี้เรียกว่า Long toe low heel
 (ปลายยาว ส้นเตี้ย) มุมกีบผิดรูป
หากเราใส่รองเท้าตีนกบ เวลาเราเดินจะเป็นอย่างไร? ม้าก็เช่นกัน หากเราตัดแต่งกีบให้ส้นกีบเตี้ย และด้านหน้ากีบยาว เวลาก้าวเดิน หรือวิ่ง การก้าวขาจะทำได้ช้าลง และปกติม้าจะก้าวขาหลังมาเกือบจะซ้ำรอยเดิมที่ขาหน้าเหยียบไว้ หากขาหลังก้าวมาแล้ว แต่ขาหน้ายังไม่ก้าวไป ม้าก็จะเตะข้อหรือน่องของตัวเอง ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงได้






การใส่เกือบที่เล็กเกินไป
หากเราใส่รองเท้าที่เบอร์เล็กเกินไป เราจะรู้สึกอย่างไร? ม้าก็เช่นกัน เวลาที่เราใส่เกือกเล็กกว่าที่ควรจะเป็น เวลาเดินก็จะเกิดแรงกดที่ส้นมากกว่าปกติ ทำให้ส้นล้มและทอดนอนกว่าปกติได้ เป็นสาเหตุที่ว่าเวลาแต่งกีบถึงจะไม่ได้ตัดตรงส้น แต่ส้นก็ยังเตี้ยอยู่ดี และผนังกีบตรงส้นก็จะม้วนเข้าไปด้านใน

เพราะกีบม้าที่ดี ความสูงของส้นต้องเท่ากัน มองจากด้านหน้าเมื่อลากเส้นแบ่งตรงกลาง กีบต้องได้สมมาตรกัน มุมของกีบที่ดีขาหน้าควรอยู่ที่ประมาณ 45 องศา ส่วนขาหลังควรอยู่ที่ประมาณ 50-55องศา เกือกที่ใส่ต้องเหมาะสมกับขนาดของกีบ ไม่ใช่ตัดแต่งกีบให้เข้ากับขนาดของเกือก 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เจ้าของและเทรนเนอร์สามารถช่วยกันดูแล และให้คำแนะนำกับช่างเกือกได้ เพราะการตอกเกือกเป็นงานที่หนักมาก จนบางครั้งช่างก็เหนื่อยเสียจนมองข้ามจุดเล็กๆ น้อยๆ นี้ไป คนเลี้ยงสามารถช่วยทำความสะอาดกีบ และสำรวจความผิดปกติต่างๆ ได้ สิ่งที่สัตวแพทย์ทำได้มีแค่การให้คำแนะนำ เมื่อเกิดปัญหาไปแล้ว........

ป้องกันที่ต้นเหตุ ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา ม้าก็ไม่ต้องเจ็บจากสิ่งที่ป้องกันได้ สามารถไปแข่งได้อย่างเต็มภาคภูมิ

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทำไมหมอคุยแต่เรื่องวิชาการ


ผมโดนพี่คนเลี้ยงม้าบ่น.....
"หมอนี่นะไม่ไหวเลย คุยกันทีไร เอาวิชาการใส่ผมทุกที" พี่แกพูดไปก็หัวเราะไป

"ถ้าหมอไม่เป็นคนพูดเรื่องวิชาการ แล้วใครจะพูดล่ะพี่" ผมตอบกลับไป

"ทำไมหมอไม่มาดูที่ผมทำนี่ เค้าสืบต่อกันมาแต่ไหนแต่ไร เป็นสูตรโบราณเก่าแก่เลยนะ มานี่ๆเดี๋ยวผมสอนให้" แกพูดพร้อมกับกวักมือเรียก

ผมก็ได้แต่ตามไปดูว่าพี่แกจะทำอะไร พบว่าพี่แกเอามะนาวมาฝานแล้วเอาปูนแดงโปะบนมะนาว แล้วเอาไปถูกับแข้งม้า ตัวที่เสียวแข้ง....

ทีนี้สนุกละ

me: เอางี้เลยเหรอพี่ มันจะกัดผิวหนังมั้ยน่ะ
he: เอางี้แหละหมอสูตรโบร่ำโบราณ
me: แล้วพี่ต้องทาแบบนี้กี่วันถึงจะอาการดีขึ้น
he: มันก็แล้วแต่ตัวนะ ส่วนมากอาทิตย์นึงก็ดีขึ้น ช่วงนี้ก็พาเดินอย่างเดียว
me: ทำไมมันถึงดีขึ้นล่ะพี่
he: เอ๊าาาาา ก็นี่ไงหมอ ผมทำนี่ ทุกวัน มันก็เลยดีขึ้น
me: มะนาวกับปูนมันทำอะไร?
he: ก็ช่วยสมานแข้ง ดูดน้ำเหลืองออก ทาไผมันก็เลยยุบลง เนี่ยวันก่อนบวมกว่านี้อีกนะ
me: ผมว่ามันดีขึ้นเพราะพี่ประคบน้ำแข็งนะ แล้วก็พักม้าด้วยไง พอไม่ได้ไปกระแทก อาการมันก็ดีขึ้น ที่ผมบอกไงพี่ พักเฉยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้น
he: หมอนี่เถียงผม มีแต่วิชาการ ม้าเนี่ยเสียวแข้งเกือบทุกตัว เราต้องประคองไปเรื่อย จนได้อายุมันทีนี้ก็ไม่เจ็บละ
me: เป็นปกติเลยเหรอพี่ เสียวแข้งทุกตัว พออายุมากขึ้นก็จะหายเอง เป็นปกติเลยเหรอ?
he: ใช่ๆ มันเป็นปกติเลยหมอ
me: นี่ไงพี่คำตอบ พี่ก็รู้ว่ามันเป็นปกติ พี่ก็ยังฝืนเอาม้าเจ็บไปซ้อมเนอะ..... (ยิ้มหวาน........;)


1. ม้าเสียวแข้ง พักสักอาทิตย์นึงอาการก็เริ่มดีขึ้น เพราะแค่พาเดิน ไม่ได้รับน้ำหนักมาก แต่พอเอาไปซ้อมอีก แล้วก็กลับมาเสียวแข้งอีก เพราะอาการเท่านั้นที่ดีขึ้น แต่กระดูกมันยังไม่หาย พอรับแรงกระแทกอีก ก็เจ็บอีกเป็นธรรมดา


2. พี่แกบอกว่าปูนแดงกับมะนาวช่วยดูดน้ำเหลือง ทำให้ตรงที่บวมมันยุบลง ร่างกายมีระบบน้ำเหลืองนะครับ ปกติมันก็มีการสร้างและดูดกลับในระดับที่พอดีกัน เลยไม่บวม ที่บวมเพราะมันอักเสบแล้วสร้างมากขึ้น พอพี่ประคบน้ำแข็ง และพักม้า มันก็ลดการอักเสบ ก็สร้างออกมาลดลง มันก็ต้องยุบเป็นธรรมดา


3. ม้าเสียวแข้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติในม้าที่กำลังโต สิ่งที่ควรทำคือพักซ้อมครับ นึกถึงตัวเราถ้าเราเจ็บขา เดินแล้วเสียวหน้าแข้ง เราจะทำอะไร เราจะหายามาทาให้กัดผิวหนังตรงหน้าแข้ง ให้ตัวเองเจ็บหว่าเดิม? เอามะนาวกับปูนแดงทา? หรือไง?


4. สูตรโบราณ โดยส่วนตัวผมชอบนะ แต่หาเหตุผลให้ผมหน่อย ถ้าดีผมเอามาใช้แน่ๆ แต่ถ้าทำไปเพราะเค้าทำต่อๆกันมา โดยบอกว่า "เค้าว่ากันว่า" ผมก็ว่ามันแปลกๆนะ


ผมก็ไม่ได้เกลียดพี่แกนะ แต่ไม่รู้ว่าพี่แกเกลียดผมมั้ย ผมมักจะดูว่าพี่แกทำอะไร แล้วก็โยนคำถามไปเรื่อยๆ พอแกตอบไม่ได้ ผมก็จะบอกแกว่าเพราะอะไร แต่แกจะเชื่อมั้ย ก็อีกเรื่องนึง

.......เพราะคนเราเลือกจะเชื่อ ในสิ่งที่เค้าต้องการเชื่อ


หรือเพราะว่าผมโรคจิต พยายามพูดให้ฟัง เพื่อวันนึง ผมจะได้พูดอย่างเต็มปากได้ว่า.....

"กูบอกมึงแล้ววววววววว"

(ยิ้มหวานนนนน......;)


วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ฝีกกเล็บ

เอ๊ะ นี่มันโรคอะไร บางคนฟังแล้วเค้าก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าชื่อโรคมันมาจากไหน ไม่รู้ว่าใครบัญญัติขึ้นมา.......

คำว่า ฝี พอเข้าใจได้ แต่ กกเล็บ คือส่วนไหน ไม่ค่อยเข้าใจ....

สุดท้ายผมก็ต้องพึ่งพาพี่เทรนเนอร์ให้ชี้เป้าให้ดู แล้วก็ถึงบางอ้อ มันก็คือไรกีบที่อยู่บริเวณส้นนั่นเอง

ลักษณะอาการคือ ม้าจะเจ็บที่กีบ เดินก็เจ็บแล้ว สักพักไรกีบตรงส้นจะบวม ม้าก็จะยิ่งเจ็บ แล้วก็ยิ่งบวม ยิ่งเจ็บ ยิ่งบวม แล้วก็...พรุ่ดดด แตกออกมา ม้าก็จะอาการดีขึ้น เดินแล้วเจ็บน้อยลง แต่ก็ยังมีหนองออกมาเรื่อย กว่าจะหายก็ใช้เวลาพอสมควร

แต่พอหายแล้วก็มักจะกลับมาเจ็บอีก....

แล้วก็มาลงเอยประโยคสุดฮิต....

มันเป็นแบบนี้แหละหมอ เป็นแล้วไม่ค่อยหายหรอก ผมอยู่กับม้ามานาน ผมเห็นมาหลายตัวแล้ว

คำถามคือแล้วทำไมมันถึงเป็นครับ? สาเหตุเกิดจากอะไร แล้วมันป้องกันได้มั้ย?

.

.

.

ฝีกกเล็บ มันเป็นชื่อเรียกที่เรียกกันขึ้นมาเอง กกเล็บ คือชื่อเรียกของไรกีบบริเวณส้นเท้า

แล้วทำไมมันจึงเป็นฝี??

จริงๆ แล้วฝีไม่ได้เกิดที่ตรงกกเล็บ แต่ฝีมักจะเกิดขึ้นภายในกีบ เนื่องจากม้าไปเหยียบหิน กรวด หรืออะไรที่แข็ง แล้วส่งผลให้เกิดการอักเสบภายใน เกิดเป็นฝีในกีบในที่สุด (ถ้าไม่มีอะไรทะลุเข้าไปก็จะเป็นฝีแบบที่ไม่ติดเชื้อ Non septic abscess)  แต่บางครั้งก็เกิดจากการตอกตะปูเกือก แล้วเข้าไปในส่วนที่เป็นเส้นเลือด เส้นประสาท ที่เรียกว่า White line (ถ้าเป็นกรณีนี้ฝีที่เกิดขึ้นก็จะเป็นแบบที่ติดเชื้อ Septic abscess)

ลองคิดภาพตาม เมื่อฝีเกิดขึ้นในกีบ เป็นหนองอยู่ภายใน แล้วไม่มีทางระบายออก มันจะไปที่ไหน....

เป็นเรา ถ้ามีทางออกสองทาง ทางนึงต้องวิ่งไปกระแทกประตูไม้ อีกทางนึงวิ่งไปกระแทกประตูที่เอาผ้ามาขึงกั้นไว้.......... (หวังว่าคงจะไม่มีคนซาดิสม์ วิ่งกระแทกประตูไม้)

ใช่ครับ มันมักจะออกทางที่นุ่มกว่า ออกได้ง่ายกว่า ซึ่งก็คือไรกีบนั่นเอง

เมื่อฝีแตกออกที่บริเวณไรกีบหรือกกเล็บ ม้าก็จะอาการดีขึ้น เพราะว่าสิ่งที่อัดอั้นอยู่ภายในได้ออกไปแล้ว.......อ่าาาาส์ ปลดปล่อย (ฝีนะครับ ขอย้ำ)

แต่การที่หนองระบายออกมาที่ไรกีบ นั้นไม่ดีแน่ เพราะไหนจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไหนจะต้องมารักษาแผล ไหนจะทำให้เนื้อเยื่อภายในตาย การสร้างกีบก็ทำได้ไม่ต่อเนื่อง ความแข็งแรงของกีบก็ลดลงอีก มีแต่เสียกับเสีย

เมื่อม้าเดินไม่ดี เริ่มมีอาการเจ็บ สิ่งที่ควรทำจึงเป็นการหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่การฉีดยาแก้ปวด ผมย้ำเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง เพราะยาแก้ปวดไม่ใช่การรักษาเสมอไป การรักษาที่ถูกต้องคือการวินิจฉัยให้ได้

หากเราตรวจพบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นฝีในกีบได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะลดความรุนแรงก็จะมีมากเท่านั้นครับ เราสามารถปาดกีบเพื่อเปิดให้หนองระบายออกทางด้านพื้นกีบได้ และสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่าครับ

ลองเลือกดูเอาเองครับว่าอะไรดีกว่ากัน

.

.

.

ผมว่ามันเลือกไม่ยากนะ

ม้าเสียวแข้ง ความผิดใคร??


หลังจากได้คุยกับหลายๆ คน ทั้งคนเลี้ยงม้า ทั้งเทรนเนอร์ ทั้งเจ้าของม้า ลองสอบถามเรื่องม้าเสียวแข้ง ว่ามันเป็นอะไรครับ มันเป็นได้ไง แล้วทำอย่างไร

พบว่าได้คำตอบคล้ายๆ กันคือ ปกตินะหมอ ม้าเนี่ยเอาม้าซ้อม ก็ต้องมีเสียวแข้งบ้าง เดี๋ยวเกลื่อนยาก็หาย หรือบางคนก็จะบ่นว่า มันเป็นๆ หายๆ ไม่หายขาดสักที

ประเด็นคือ ม้าผิด หรืออออ?

ผมว่าเราหลงประเด็น พูดกันราวกับว่าเป็นความผิดม้าที่มันเจ็บ........ แต่เราลืมมองอะไรกันไปหรือเปล่า

ทำไมม้าเกือบทุกตัว ถึงมีอาการเสียวแข้ง?

แล้วเมื่อพบปัญหาคล้ายๆ กัน ไม่มีใครเอะใจเลยเหรอว่ามันดูแปลกๆ?

หากลองพิจารณาดีๆ ก็จะพบคำตอบอยู่ในสิ่งที่ผมได้รับคำอธิบายมา ก็คือมันก็มีเสียวแข้งบ้างเป็นปกตินะหมอ..

เป็นปกตินะหมอ

เป็นปกตินะหมอ

เป็นปกติ...

นั่นไง!! คำตอบ

ใช่ครับ เรื่องนีเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนปัญหาสิวๆ นั่นแหละ หากเราพยายามทำความเข้าใจมันสักนิด เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องธรรมชาติเช่นกัน

ในระหว่างที่ม้าโต กระดูกหน้าแข้งจะโตและเปลี่ยนรูปร่างไปอย่างมาก จากที่เคยเป็นกระดูกกลมๆ ก็จะค่อยๆ แบนลง ด้านหน้าจะเจริญเร็วมาก กระดูกเจริญได้เร็ว แต่เยื่อหุ้มกระดูกมันเจริญตามไม่ทัน...

นี่แหละครับจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้......

เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่ม้าจะเจ็บ เพราะเยื่อหุ้มกระดูกเป็นส่วนที่มีเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมาก ลองนึกถึงตอนที่เราเดินเตะโต๊ะ เอาหน้าแข้งไปกระแทกแรงๆ สิครับ.... เจ็บมั้ย?

ม้าในธรรมชาติเมื่อเจ็บ ก็จะสามารถพักไปเองได้ เพราะเวลาวิ่งแรงๆ หรือรับแรงกระแทกต่างๆ ก็จะเจ็บ พอเจ็บก็จะเรียนรู้ว่าต้องค่อยๆ นะ ค่อยๆ เดิน ค่อยเป็นค่อยไป

แต่............

ม้าที่มนุษย์เอามาเลี้ยงมันเลือกไม่ได้ ตื่นเช้ามาก็ใส่ขลุม ใส่สายจูง พาออกไปเดิน พาออกไปตีวง พาไปวิ่ง ไปซ้อม เสร็จแล้วก็อาบน้ำ ให้อาหาร เอาเข้าคอก ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมของคน......

เจ็บก็เจ็บ จะพักก็ไม่ได้พัก

พอจะได้พัก ก็โดนเอายาอะไรก็ไม่รู้มาทาตรงที่เจ็บ แล้วก็ยิ่งเจ็บมากขึ้น ยิ่งอักเสบมากขึ้น บางคนก็เอาเหล็กร้อนๆ มาจี้ตรงหน้าแข้ง เป็นแผล เป็นรูเต็มไปหมด บางทีก็ติดเชื้อขาบวมเป่งกันเลยทีเดียว......

พอเจ็บ แล้วก็โดนทำให้เจ็บมากขึ้น พอเจ็บมากๆๆๆๆๆ ถึงจะได้พัก....... ทำเพื่ออะไร?

ไม่เป็นแผล ก็ทำให้เป็นแผล แล้วก็ค่อยๆ รักษาแผลให้หาย... จะง่ายกว่าหรือไม่ ถ้าพักม้าเฉยๆ โดยที่ไม่ต้องทำแผล

พาเดินบ้าง ปล่อยแปลงบ้าง พอครบกำหนด 3 สัปดาห์หลังจากเจ็บ ก็ค่อยเอามาเริ่มซ้อมกันใหม่... ธรรมชาติจะรักษาตัวมันเองครับ

เห็นมั้ยว่าถ้าพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติม้าสักนิด ชีวิตก็ง่ายกว่ากันเยอะ ทั้งคน ทั้งม้า ;)

.

.

.

สรุปแล้ว ม้าเสียวแข้ง ความผิดใคร?

คนดูแลม้าก็ไม่ผิด เพราะอาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วม้าเป็นอะไรกันแน่ เจอม้าอาการแบบนี้ก็รักษาให้ยากันไปแบบหนึ่ง ทำตามกันมา ด้วยความไม่เข้าใจที่แท้จริง

ม้าก็ไม่ผิด เพราะม้าก็เสียวแข้งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แค่ไม่ได้บอกให้คนเลี้ยงรู้.... เท่านั้นเอง (ไม่รู้จะอธิบายยังไง)


*ม้าเสียวแข้ง หายได้เอง หากได้พักเป็นเวลา 3 สัปดาห์

**ยกเว้นในกรณีที่เป็นมากกว่าแค่เยื่อหุ้มกระดูกอักเสบหรือฉีกขาด แต่เป็นการร้าวหรือแตกของกระดูก จะต้องใช้เวลาพักที่นานกว่า